วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การลงทุนทางการศึกษา

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ กระบวนการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ผลิตสินค้าและบริการทางการศึกษา

สินค้าที่กระบวนการศึกษาผลิต จัดอยู่ในประเภทสินค้าสาธารณะ(public goods) และสินค้าสังคม(social goods) เพราะทำให้เกิดประโยชน์ไม่เฉพาะตัวผู้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นในสังคมอีกด้วย

นอกจากนั้น ผลผลิตของกระบวนการศึกษายังเป็นสินค้าที่เป็นคุณ(merit goods) เพราะการศึกษาช่วยขจัดความโง่เขลา ช่วยยับยั้งผู้บริโภคการศึกษาไม่ให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ชั่ว

ในทางเศรษฐศาสต์ ยังมองว่าการศึกษาเป็นการผลิตเพื่อการบริโภค ด้วยเหตุที่ว่า การศึกษาสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความพอใจ เกิดความสุข เช่นเดียวกับที่ได้บริโภคสินค้าและบริการอื่นๆ

ส่วนที่มองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนนั้น ก็เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์  และในอนาคตผลผลิตทางการศึกษาจะก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะการสร้างสมทุนมนุษย์มีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนทางการศึกษาจึงเป็นภาระจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในการลงทุนทางการศึกษา มีต้นทุนซึ่งสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

          1. ต้นทุนการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น เงินเดือนครูอาจารย์ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น

          2. ต้นทุนการเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล เป็นการเสียโอกาสที่บุคคลจะมีรายได้ที่ควรจะได้ แต่ต้องเสียไปในขณะที่ศึกษาเล่าเรียน

          3. ต้นทุนที่เกี่ยวกับการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน เช่น ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง  ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

เนื่องจากการศึกษาเป็นการลงทุน แน่นอนว่าจะต้องมีค่าตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนนั้น ผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการลงทุนทางการศึกษา จำแนกได้ดังนี้

          1. ประโยชน์ส่วนบุคคล คือการศึกษาช่วยให้บุคคลมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ฯลฯ ซึ่งความสััมพันธ์ระหว่างรายได้กับการศึกษานั้น จากการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า

              1.1. รายได้มีความสัมพันธ์อย่างสูงกับการศึกษาทุกระดับอายุ ผู้มีการศึกษาสูงจะมีรายได้สูงกว่าผู้มีการศึกษาที่ต่ำกว่า

              1.2. ลักษณะ(profile)ของเส้นรายได้ของกำลังแรงงานที่มีการศึกษาสูง จะชันกว่าของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า จุดสุดยอดของคนทำงานที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าจะสูงกว่าคนทำงานที่มีการศึกษาต่ำกว่า

              1.3. รายได้ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าจะถึงจุดสุดยอดช้ากว่าผู้มีการศึกษาน้อยกว่า บางกรณี รายได้ของแรงงานที่มีการศึกษาสูงจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งเกษียณ

          2. ประโยชน์แก่สังคม การศึกษาทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรม เพราะการศึกษาช่วยให้คนรู้จักรับผิดชอบชั่วดีเพิ่มขึ้น

นั่นคือ การลงทุนทางการศึกษาจะทำให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนบุคคลและสังคม เป็นการสร้างทุนมนุษย์อันจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นการศึกษาที่สัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าการศึกษาเพื่อการศึกษา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคิด

คนในประเทศด้อยพัฒนา เชื่อว่าการศึกษาเป็นวิถีทางที่ทำให้ตนเองห่างไกลจากจากการทำงานที่ต้องใช้มือ หรืองานที่ต้องใช้แรงกาย การศึกษาเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำงานเบาๆในสำนักงาน

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น