วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ภาวะแห่งตนกับการสื่อสารระหว่างบุคคล

ตามทฤษฎีของเบิร์น (Eric Berne) เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนมี 3 ภาวะอยู่ในคนๆเดียวกัน หรือ บุคลิกภาพของคนประกอบด้วย 3 ภาวะ ได้แก่ ภาวะพ่อแม่ ภาวะผู้ใหญ่ และภาวะเด็ก ทั้ง 3 ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะแห่งตน(Ego Stages) ซึ่งเป็นระบบของความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนั้น

ภาวะแห่งตน 3 ภาวะ นี้ ใช้ในการอธิบายพฤติกรรมของบุคคล ในขณะที่มีการสื่อสารคนกับอื่นในเวลาใดเวลาหนึ่ง และในขณะที่มีการสื่อสาร ภาวะแห่งตนอาจเปลี่ยนจากภาวะหนึ่งไปยังอีกภาวะหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะแห่งตนทั้ง 3 ภาวะ ไม่ได้สัมพันธ์กับอายุตามปฏิทินของแต่ละบุคคล  ผู้ใหญ่อาจมีภาวะเด็ก หรือเด็กอาจมีภาวะพ่อแม่ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นมีภาวะใดที่มีอิทธิพลเหนือกว่า 

1.ภาวะพ่อแม่ (Parent Ego State)

ภาวะพ่อแม่ เป็นความรู้สึก เจตคติ แนวความคิด และ พฤติกรรม ที่บุคคลได้จากการมีประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นภาพของพ่อแม่หรือบุคคลที่เคยเลี้ยงดู

เมื่ออยู่ในภาวะพ่อแม่ บุคคลจะพูดและทำเหมือนพ่อแม่จริงๆ ในการพูดจะใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นพ่อแม่ เช่น ใช้คำว่า "อย่า" "ควรจะ" "ไม่ควรจะ" "อย่าแตะ" "จงเป็นคนดี" "กินเสีย" "จะทำเอง" "ไม่เจ็บนะ" "อย่ากวนตอนนี้"  "หยุดนะ" "อย่ากังวล" "จะจัดการเอง" ฯลฯ

ภาวะพ่อแม่จะพูดหรือทำในลักษณะของการประเมิน โดยพูดถึง ดี เลว สวยงาม น่าเกลียด ฯลฯ ส่วนที่ใช้ภาษากาย เช่น สั่นหัว กอดอก เป็นต้น

ภาวะพ่อแม่แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พ่อแม่บำรุงรักษา ซึ่งมีพฤติกรรมให้ความเห็นอกเห็นใจลูก ให้ความคุ้มครอง และเอาใจใส่ กับ พ่อแม่ควบคุม ซึ่งมีพฤติกรรมดูแลลูกด้วยการดุ ตักเตือนและลงโทษ ซึ่งพฤติกรรมทั้ง 2 ประเภทนี้ พ่อแม่บางคนก็มุ่งประเภทแรก บางคนก็มุ่งประเภทที่ 2

2.ภาวะผู้ใหญ่ (Adult Ego State)

ภาวะผู้ใหญ่เป็นภาวะที่มองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ใช้ข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ คิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ มีความเยือกเย็น จะแสวงหาคำตอบมากกว่ากล่าวหา

ภาวะผู้ใหญ่เป็นกระบวนการจัดกระทำกับข้อมูล ปฏิบัติหน้าที่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมข้อมูล คาดคะเนความเป็นไปได้ และเสนอข้อมูลอย่างมีตรรกะ มีการประเมินความเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ภาวะผู้ใหญ่ชอบถามคำถามว่า "อะไร" "ทำไม" "เมื่อไร" และ "ที่ไหน" เช่น ถามว่า ในสถานการณ์นี้ เราได้เรียนรู้อะไร

ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ใช่ภาษา ภาวะผู้ใหญ่จะให้ความสนใจอย่างจริงจัง ยืนตัวตรง ประสานสายตา และเข้าใกล้ผู้พูด เพื่อให้เห็นและฟังชัดขึ้น

3. ภาวะเด็ก (Child Ego State)

ภาวะเด็กประกอบด้วยความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมแบบเด็ก เป็นส่วนที่บุคคลเคยเป็นเมื่อตอนเป็นเด็ก ฉะนั้น ความรู้สึกและวิธีประพฤติปฏิบัติจึงเหมือนที่ตอนเป็นเด็ก ซึ่งภาวะเด็กแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เด็กโดยธรรมชาติ ศาสตราจารย์น้อย และเด็กที่ปรับตัวได้

          3.1. เด็กโดยธรรมชาติ (Natural Child State) จะมีพฤติกรรมเป็นไปตามธรรมชาติ  และทำในสิ่งที่ต้องการจะทำ  รักความสนุกสนาน ต้องการสำรวจสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์ใหม่ๆ และชอบใช้คำว่า "ทำไม่ได้" "ไม่ต้องการ" "มาเล่นกันเถอะ" "แม่ไม่รักฉัน" "ทุกคนรักฉันหรือ" "อย่าตีฉัน" ส่วนที่ไม่ใช้ภาษา ภ่าวะเด็กจะร้องไห้ ตะโกน และแสดงออกมาโดยไม่คำนึงว่าสถานการณ์ทางสังคมจะเป็นอย่างไร

          3.2. ศาสตราจาย์น้อย(Little Professor) จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และแสดงความยืดหยุ่น  สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใหญ่ และพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง

          3.3. เด็กที่ปรับตัวได้(Adapted Child Stage) จะเชื่อฟังคำชี้แจงจากพ่อแม่ ปรับพฤติกรรมตามที่พ่อแม่บอก ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ และเป็นอย่างที่พ่อแม่ให้เป็นเมื่อโตขึ้น ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เด็กที่ปรับตัวได้ อาจจะถอยหนี ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์ออกมา

ภาวะทั้ง 3 เปรียบเสมือนเสียงภายใน หากบุคคลลองฟังเสียงภายในตนเอง แล้วจะทราบว่า ตนมีภาวะเป็นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือเด็กในตัวเอง ซึ่งภาวะพ่อแม่ ภาวะผู้ใหญ่ และภาวะเด็ก จะทำงานเป็นหน่วยเดียวกัน เป็นบุคลิกภาพของคนๆหนึ่ง

หากใครคนใดคนหนึ่งต้องการที่จะตรวจสอบภาวะแห่งตน เพื่อดูว่าตนอยู่ในภาวะใด สามารถกระทำได้ดังนี้

          1) สังเกตจากพฤติกรรม คือ ดูจาก กริยาท่าทาง วิธียืน นั่ง เดิน น้ำเสียง ตลอดจนคำที่ใช้

          2) สังเกตจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กล่าวคือ ถ้าภาวะพ่อแม่มีอิทธิพลเหนือภาวะอื่น จะเป็นคนรู้ทุกอย่าง ซึ่งจะทำให้ภาวะเด็กที่มีอยู่ในคนอื่นผิดหวัง แต่ถ้าภาวะเด็กมีอิทธิพลเหนือภาวะอื่น จะรักสนุกและมีความสุข ทำให้ภาวะเด็กที่มีในคนอื่นสนุกด้วยกัน แต่ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมแบบภาวะผู้ใหญ่ จะเป็นโอกาสดีที่คนรอบข้างจะแสดงความเป็นผู้ใหญ่ออกมา  นี่คือการตรวจสอบสภาวะแห่งตนจากปฏิกริยาที่คนอื่นแสดงต่อเรา

          3) ตรวจสอบจากชีวิตในวัยเด็ก ทุกคนคงจำได้ว่าในวัยเด็กได้พูดลักษณะใด พ่อแม่พูดอย่างไร และเมื่อโตขึ้น บางครั้งจะสังเกตเห็นว่า เราพูดเหมือนกับที่เคยพูดเมื่อตอนเป็นเด็ก และบางครั้งเราจะพูดเหมือนกับที่พ่อแม่เคยพูดกับเราทุกประการ นั่นคือ ถ้าพูดเหมือนตอนวัยเด็ก แสดงถึงภาวะเด็ก แต่ถ้าพูดเหมือนที่พ่อแม่เคยพูดกับตนในวัยเด็ก แสดงถึงภาวะพ่อแม่ของคนๆนั้น

         4) ตรวจสอบจากความรู้สึกของตน ว่าเป็นความรู้สึกของพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือเด็ก เป็นการทดสอบที่สำคัญที่สุด เพื่อทราบภาวะแห่งตนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

อย่างก็ตาม จะต้องระลึกไว้เสมอว่า ทั้ง 3 ภาวะ อยู่ในตัวมนุษย์ และมีความสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์ การตรวจสอบภาวะแห่งตน เป็นเพียงการช่วยให้ทราบว่าภาวะใดที่ควบคุมความรู้สึกและพฤติกรรมของตนอยู่

การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารระหว่างภาวะแห่งตน ในขณะที่ทำการสื่อสาร บุคคลจะใช้ภาวะใดภาวะหนึ่งเพื่อการสื่อสาร จึงกล่าวได้ว่า การสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นการแลกเปลี่ยนภาวะแห่งตนระหว่างบุคคล ซึ่งอาจจะแลกเปลี่ยนด้วยถ้อยคำที่แสดงความเป็นมิตร หรือด้วยความโกรธ เช่น เมื่อบุคคลหนึ่งกล่าวคำว่า"สวัสดี" กับอีกบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้นจะกล่าวคำว่า"สวัสดี"ตอบเป็นการแลกเปลี่ยน หรือ เมื่อบุคคลหนึ่งถามว่า "ไปไหนมา" อาจได้รับคำตอบว่า "ธุระไม่ใช่" ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะแห่งตนของคู่สนทนา

การแลกเปลี่ยนนี้อาจจะแลกเปลี่ยนภาวะเด็กกับภาวะเด็ก ภาวะเด็กกับภาวะผู้ใหญ่ หรือภาวะพ่อแม่กับภาวะเด็ก ก็ได้ คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่าจะมีอิสระในการเลือกใช้ภาวะแห่งตนได้มากกว่า

เมื่อใดก็ตามที่คน 2 คน มีการสื่อสารกัน แต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกใช้ภาวะแห่งตน ว่าจะส่งไปด้วยภาวะใดและตอบสนองด้วยภาวะใด เช่น คนหนึ่งส่งด้วยภาวะเด็ก คู่สนทนาอาจตอบสนองด้วยภาวะเด็กหรือภาวะผู้ใหญ่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรู้และเจตคติของบุคคลทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ในการสื่อสาร บุคคลจะต้องเลือกใช้ภาวะแห่งตนให้สอดคล้องกับบุคคลที่สื่อสารด้วย เช่น ใช้ภาวะผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ด้วยกัน ใช้ภาวะเด็กกับพ่อแม่ หรือใช้ภาวะเด็กกับเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารดำเนินไปได้ด้วยดี มีประโยชน์ และมีความต่อเนื่อง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

          You can change the negative bias in your head, so that you interpret things more positively.

                                                                                     Dr. Jessamy Hibberd and Jo Usma

*********************************************************************************





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น