วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเกือบทุกเรื่องในชีวิตจะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงาน เนื่องจากในการทำงานแทบจะไม่มีงานไหนในปัจจุบันที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งนี้เพราะการทำงานในปัจจุบันมีลักษณะเน้นคน

ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น กลายเป็นปัจจัย สำคัญสำหรับความสำเร็จในแทบจะทุกตำแหน่ง

ความสัมพันธ์ระหว่า่งบุคคล ยังจำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีของบุคคลในหลายๆทาง กล่าวคือ ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาทางด้านความคิดและสังคม ช่วยสร้างเอกลักษณ์ส่วนบุคคลในทางบวก มีความรู้สึกมั่นใจ ตลอดจนช่วยในการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลให้ปกติหรือดีขึ้น

ในส่วนของความล้มเหลว พบว่าร้อยละ 80 ของคนที่ล้มเหลวในการทำงาน เกิดจากการไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ไม่ว่าจะทำงานอาชีพ ผู้จัดการ พยาบาล เลขานุการ ช่างไม้ กรรมกร อัยการ แพทย์ เสมียน หรือรัฐมนตรี ล้วนจะต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นทั้งสิ้น

สำหรับความสัมพันธ์กับคนอื่นหรือมนุษยสัมพันธ์ มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกันไป แต่ ฟิชเชอร์(Fisher) ให้ความหมายว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ก็คือ การสื่อสารระหว่างบุคคล เพราะเขาเห็นว่า "สัมพันธ์"ก็คือ"สื่อสาร"นั่นเอง

สำหรับการสื่อสาร สมิธและเวคเลย์ (Smith and Wakeley) ได้ให้ความหมายว่า การสื่อสาร คือ การให้หรือการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก โดยวิธีการพูด การเขียน หรือการใช้สัญลักษณ์

ถ้าหากจะแบ่งประเภทของการสื่อสาร สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

1. การแบ่งประเภทโดยยึดระเบียบแบบแผน แบ่งได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ

          1.1 การสื่อสารที่เป็นระบบ เป็นการสื่อสารที่มีระเบียบแบบแผนกำหนดไว้ชัดเจน เช่น การติดต่อในระบบราชการ จะต้องทำตามระเบียบแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติทางราชการที่กำหนดไว้

          1.2 การสื่อสารที่ไม่เป็นระบบ เป็นการสื่อสารที่เกิดตากความรู้จักคุ้นเคย มีลักษณะเป็นส่วนตัว

2. การแบ่งประเภทโดยยึดการสื่อสารในองค์การ ซึ่งการสื่อสารในองค์การสามารถแบ่งการสื่อสารออกได้ 3 ประเภท คือ

          2.1 การสื่อสารจากบนลงมาล่าง เป็นการสื่อสารที่เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา โดยมากเป็นเรื่องของการสั่งการให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

          2.2 การสื่อสารจากล่างขึ้นบน กับการสื่อสารจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงผู้บังคับบัญชา เป็นส่งข้อมูลข่าวสารป้อนกลับ เป็นการายงาน ให้ความเห็น ตลอดจนรายงานปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

          2.3 การสื่อสารตามแนวนอน เป็นการสื่อสารของบุคคลในระดับเดียวกัน เพื่อการปรึกษาหารือ ประสานงาน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

3. การแบ่งประเภทโดยยึดพฤติกรรมการสื่อสารของบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

          3.1 การสื่อสารเชิงวัจนะ เป็นพฤติกรรมการสื่อสารที่ใช้ถ้อยคำ อาจเป็นคำพูดหรือข้อเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

          3.2 การสื่อสารเชิงอวัจนะ เป็นพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ใช้ถ้อยคำ เช่น ใช้กิริยาท่าทาง สายตา ตลอดจนการแสดงออกทางสีหน้า

4.การแบ่งประเภทโดยยึดการมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างที่มีการสื่อสาร แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

          4.1 การสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งข่าวสารไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้แสดงปฏิกิริยาโต้กลับ

          4.2 การสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารเปิดโอกาสให้ผู้รับสารมีโอกาสแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบ

ในการสื่อสารจะใช้การสื่อสารประเภทใดจึงจะมีประสิทธิผลนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ต้องการความรวดเร็ว ก็อาจใช้การสื่อสารจากบนลงล่างหรือการสื่อสารทางเดียว แต่หากต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน อาจใช้การสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้มีการซักถาม เป็นต้น

อนึ่ง จะต้องตระหนักเสมอว่าในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการสื่อสาร ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าการสื่อสารขาดประสิทธิผล จะทำให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ยากเช่นเดียวกัน หรืออาจเกิดความสัมพันธ์ในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนาก็เป็นได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคำ

ประสิทธิผล (effectiveness) หมายถึง ได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นการพิจารณาจากการนำผลของงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่ได้ไปเปรียบเทียบ กับวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย ถ้าได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ถือว่ามีประสิทธิผล
*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น