วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(3)

รองศาสตราจารย์ ดร. ประกอบ คุปรัตน์ ได้เขียนรายงานการศึกษาเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาทิศทางอุดมศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ และจากรายงานเรื่องนี้สรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยมีสภาพและปัญหาดังนี้

1. การขาดพัฒนาการทางวิจัย การอุดมศึกษาโดยทั่วไป การวิจัยมีความจำเป็น แต่มหาวิทยาลัยของไทยไม่ให้ความสำคัญในการวิจัยมากนัก ปัญหาของการวิจัยที่เห็นได้ชัด คือ

          1.1 นักวิชาการที่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัย ไม่สามารถที่จะทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้

          1.2 การไม่พัฒนาการวิจัยทำให้ไม่มีการพัฒนาการเรียนการสอน การเรียนการสอนจึงเป็นกระบวนการเล่าของเก่า และการสอนที่ไม่มีการวิจัยเป็นการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

          1.3 ขาดการการจัดการเรื่องเงินและเครื่องมือเพื่อการวิจัย ตลอดจนขาดแรงจูงใจในการวิจัย

          1.4 เอกชนไทยไม่ให้ความสำคัญในบทบาทการวิจัยและการสร้างความรู้ใหม่ของมหาวิทยาลัยไทย จึงอาศัยเทคโนโลยีจากตะวันตก ด้วยการซื้อโดยตรง รับจ้างผลิต และการร่วมทุน

          1.5 ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวิจัยจากรัฐบาลและวิธีการบริหาร

2. ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ มหาวิทยาลัยไทยมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้

          2.1 การเร่งผลิตทำให้ขาดการเตรียมความพร้อม

          2.2 ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยขาดคุณภาพ เพราะการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาขาดคุณภาพ

          2.3 อาจารย์ผู้สอนไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณภาพแต่ไม่จริงจังในกระบวนการเรียนการสอน

          2.4 ระบบการเรียนการสอนยังเป็นระบบเดิม ทั้งๆที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

          2.5 ขาดการลงทุนที่เหมาะสม

          2.6  ขาดการจัดการที่ดีไม่มีคุณภาพ

          2.7 ไม่มีการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพ

          2.8 ระบบการผลิตขาดการแข่งขัน ระบบการศึกษายังเป็นระบบผูกขาด

          2.9 กลไกของผู้บริโภคหรือตลาดแรงงานยังไม่พร้อมและขาดทักษะในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน

          2.10 สังคมและระบบราชการยังไม่เข้าใจเรื่องคุณภาพ เช่น ให้อัตราเงินเดือนโดยยึดปริญญาบัตร

3. ปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร ลักษณะการบริหารของมหาวิทยาลัยมีลักษณะดังนี้

          3.1 อาจารย์และนักวิชาการมีเสรีภาพทางวิชาการมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถนำเสนอความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในคณะรัฐบาลได้

          3.2 มีระบบการปกครองของอาจารย์ โดยอาจารย์ และเพื่ออาจารย์

          3.3 การได้มาซึ่งตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้มาโดยการเลือกตั้ง

          3.4 มีการแต่งตั้งตำแหน่งทางบริหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดผลที่ตามมา คือ

                    3.4.1 การขาดวัฒนธรรมการบริหารด้วยมืออาชีพ ไม่มีการพัฒนาผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

                    3.4.2 ทำให้การบริหารเกิดการแตกแยก มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่อยู่ในฐานะที่ใช้คนดีมีความสามารถ กลายเป็นว่าต้องใช้คนที่มีบุญคุณต่อกันทางการเมือง สูญเสียประสิทธิภาพในการบริหาร

                    3.4.3 อาจารย์และบุคลากรเสียวินัยในการทำงาน ขาดการตอบสนองต่อสังคม กลายเป็นกลไกปกป้องตัวอาจารย์อีกระดับหนึ่ง เพราะในกรณีที่ไม่ทำงานให้ตอบสนองต่อมหาวิทยาลัยผู้บริหารก็ไม่กล้าทำอะไร

                    3.4.4 สูญเสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน ยิ่งปล่อยไปนานจะยิ่งล้าและยากแก่การเปลี่ยนแปลง เพราะอาจารย์เองจะกลายเป็นตัวอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน รู้สึกว่างานที่ทำไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีความหมาย ระบบค่าตอบแทนไม่ดึงดูดเพียงพอ ยิ่งทำให้เสียขวัญในการทำงาน

                    3.4.5 รัฐขาดกลไกการควบคุมการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพราะการได้ผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบสนองต่อรัฐ

                    3.4.6 สังคมภายนอกขาดการเชื่อมโยงกับภายในสถาบัน เพราะการเลือกตั้งผู้บริหารภายในเพื่อสนองภายใน งบประมาณที่ใช้จ่ายก็มีเงินของรัฐสนับสนุน ความรู้สึกที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอกก็น้อยลง

จะเห็นว่ารายงานเรื่อง"ระบบอุดมศึกษาไทย" ของรองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ คุปรัตน์ โดยสาระสำคัญมีความสอดคล้องกับผลงานการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"ของศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุลและคณะ รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทัศนะของศาตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ที่กล่าวถึงวิกฤตการณ์มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึงพบว่ามหาวิทยาลัย มีปัญหาเรื่องบริหาร การเรียนการสอน และการวิจัย ดังรายละเอียดที่กล่าวมา

จริงอยู่ผลงานที่กล่าวมา เป็นผลงานที่ผลิตมาและนำเสนอหลายปีมาแล้ว แต่ไม่มีผลทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงมากนัก บางเรื่องอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้น บางเรื่องอาจถูกละเลยแม้เรื่องนั้นๆจะมีความสำคัญต่อการเป็นอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ก็ตาม จึงอยากจะถามผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติว่า ถึงเวลาที่จะปฏิรูปหาวิทยาลัยไทยอย่างจริงจังแล้วหรือยัง เพราะหากปล่อยไว้อย่างที่เป็นอยู่ มหาวิทยาลัยไทยก็จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ คงเป็นได้แค่แหล่งผลิตปริญญาบัตรขนาดใหญ่ของประเทศเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารมหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ ทั้งที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการแต่งตั้งผู้บริหาร แต่กลับยอมให้มีการใช้กฎหมู่และไม่รับผิดชอบ

                                                                                วิจิตร ศรีสอ้าน
                                                                                 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น