วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แนวทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มต่างๆเป็นอย่างไร

จิตวิทยา คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อเข้าใจ อธิบาย และทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ 

แนวทัศนะทางจิตวิทยาที่สำคัญๆแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มจิตวิเคราะห์(Psychoanalysis)

จิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2443 ผู้ให้กำเนิดจิตวิทยากลุ่มนี้ คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ เขาเห็นว่า จิตแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก

จิตใต้สำนึกและจิตไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยทางอ้อม จิตไร้สำนึกเป็นเหตุจูงใจให้บุคคลมีพฤติกรรมโดยใช้พลังจิต อันได้แก่ อิด(Id) อีโก(Ego) และซุปเปอร์อีโก(Super Ego) ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมให้เป็นไปตามสัญชาตญาณที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง นักจิตวิทยากลุ่มนี้ศึกษาจากคนป่วยโรคจิต โรคประสาท

นอกจากฟรอยด์แล้ว นักจิตวิทยากลุ่มนี้ยังมี แอดเลอร์(Adler) อีริคสัน(Erikson) เป็นต้น

ฟรอยด์เองไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาตนไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี แต่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในอดีตของมนุษย์มาก

กลุ่มพฤติกรรมนิยม(Behaviorism)

กลุ่มพฤตกรรมนิยมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 วิธีการศึกษาของกลุ่มนี้ใช้วิธีการทดลอง ประกอบด้วยการสังเกตอย่างมีแบบแผน

นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์จะต้องมีสาเหตุ และพฤติกรรมของมนุษย์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้า และเมื่อมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าติดต่อกันเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้

สำหรับแนวทัศนะของกลุ่มพฤติกรรมนิยมสรุปได้ดังนี้

1. การวางเงื่อนไขเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

2. พฤติกรรมของคนส่วนมากเกิดจากการเรียนรู้มากกว่าเป็นไปเองตามธรรมชาติ

3. การเรียนรู้ของคนไม่ต่างจากสัตว์มากนัก จึงสามารถศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ได้จากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนามนุษย์ ก็คือ การจัดสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและทางสังคม หรือด้วยการวางเงื่อนไขที่เหมาะสม

นักจิตวิทยากลุ่มนี้ปฏิเสธเรื่องจิตสำนึก เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นอัตนัยไม่สามารถเห็นหรือสังเกตเห็นได้อย่างเป็นปรนัย

นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัตสัน(Watson) สกินเนอร์(Skinner) เป็นต้น

กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)

กลุ่มมนุษยนิยมเป็นนักจิตวิทยากลุ่มหลังสุด นักจิตวิทยากลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในด้านดีงาม มนุษย์มีธรรมชาติใฝ่ดี รู้คุณค่าในตน มีความรับผิดชอบในชีวิตและการกระทำของตน สุข ทุกข์ ชั่ว ดี เกิดจาการเลือกของมนุษย์เอง และที่สำคัญคือมนุษย์ต้องการรู้จักตนเอง ต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ

ทัศนะของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ไม่ได้มองว่ามนุษย์ "เลว" หรือ "เหมือนหุ่นยนต์"  แต่มองว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และมนุษย์มีการเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์

กลุ่มมนุษยนิยมเน้นการศึกษามนุษย์ในเชิงบวก มีวิธีการและจิตใจที่เปิดกว้าง ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้

ผู้นำของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ ได้แก่ อับรมฮัม มาสโลว์(Abraham Maslow) และคาร์ล โรเจอร์ส(Carl Rogers)

จะเห็นว่านักจิตวิทยาทั้ง 3 กลุ่ม แม้จะ มีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายไม่ค่อยจะต่างกัน คือต่างก็พยายามจะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ และมองตรงกันว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาตน ของตน และโดยตนได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

การพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ

                                                                         Abraham Maslow

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น