จริต หมายถึง ความประพฤติของคนที่กระทำอย่างสม่ำเสมอเป็นอาจิณ จนเป็นพื้นเพของจิต การทราบจริตของคน จะช่วยให้กำหนดวิธีพัฒนากายและจิตได้เหมาะสมกับจริต ทำให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ
ในทางพระพุทธศาสนา จริตแบ่งได้เป็น 6 จริต เรียกว่า จริต 6 ได้แก่
1. ราคจริต มีความประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม มีความเรียบร้อย นุ่มนวล ไม่รีบร้อน มีความสะอาดสวยงาม มีระเบียบ ชอบอาหารทีมีรสหวาน มัน สีสันชวนรับประทาน เสียงไพเราะ ชอบตลกขบขัน มีความเป็นคนเจ้าเลห์ โอ้อวด แง่งอน พิถีพิถัน ชอบยกยอ
2.โทสจริต มีความประพฤติหนักไปในทางโทสะ เป็นคนที่มักโกรธง่าย ใจร้อน หงุดหงิด มีอาการรีบเร่ง ร้อนรน กระด้าง มีความสะอาดแต่ไม่เรียบร้อย ไม่สำรวม มุ่งแต่ในสิ่งที่ต้องการ อาหารชอบรสเปรี้ยว เค็ม ขม ฝาด รสจัด รับประทานเร็ว คำโต ชอบดูการชกต่อย ทะเลาะวิวาท มีความมักโกรธ ผูกใจเจ็บ ลบหลู่บุญคุณ ตีเสมอ มักริษยา
3. โมหจริต ประพฤติหนักไปในทางโมหะ มักหลงงมงาย เซื่องซึม เหม่อลอย ทำงานหยาบ ไม่ถี่ถ้วน คั่งค้างเอาดีไม่ได้ เป็นชอบอาหารทุกรส ไม่เลือกอาหาร รับประทานอาหารมูมมาม ชอบคล้อยตาม คนอื่นเห็นว่าดีก็ดีด้วย เห็นว่าไม่ดีก็ไม่ดีไปด้วย มีลักษณะง่วงเหงาหาวนอน ช่างสงสัย เข้าใจอะไรยาก
4. สัทธาจริต ประพฤติหนักไปทางความเชื่อ มักเชื่อง่าย มีอาการแช่มช้อยละมุนละม่อม เป็นคนเรียบร้อยสวยงาม มีระเบียบ ชอบอาหารรสหวาน มัน หอม ชอบของสวยแบบเรียบๆ ไม่โลดโผน ชอบการทำบุญ
5. พุทธิจริต ประพฤติหนักไปในทางความรู้ การใช้ความคิดพิจารณา มักเชื่อแต่ความรู้ของตน มีความว่องไว ทำงานเรียบร้อย มีระเบียบและเป็นประโยชน์ ชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม พอประมาณ ไม่ชอบรสจัดมากนัก จะดูสิ่งต่างๆด้วยการพินิจพิเคราะห์ เป็นคนว่าง่ายไม่ดื้อ มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร รู้เร็วเข้าใจง่าย
6. วิตกจริต ประพฤติหนักไปในทางวิตกกังวล มักฟุ้งซ่าน เป็นคนเชื่องช้าคล้ายโมหจริต มีงานการไม่เป็นหลักฐาน จับจด พูดเก่ง ชอบอาหารรสไหนก็ได้ มีความเห็นคล้อยตามคนหมู่มาก เป็นคน โลเล เกลียดง่าย รักง่าย ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
ในแต่ละคนจะมีจริตหลายอย่างปนกันอยู่ หากประพฤติหนักไปทางใดจริตก็จะจัดเข้าลักษณะนั้น การมอบหมายงาน การปฏิบัติตนกับคนที่มีจริตต่างกันก็ควรต่างกัน ในการพัฒนาตน คนที่มีจริตต่างกัน ควรใช้อุบายต่างกัน การเข้าใจจริต 6 ยังช่วยให้เข้าใจตนเอง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาตน
---------------------------------------------------------------
สาระคำ
สิกขา เป็นภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตใช้คำว่าศึกษา แปลว่า การสำเหนียก การฝึกอบรม การศึกษา
สำเหนียก หมายความว่า รู้จักจับ รู้จักเลือกมาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ฝึกฝนปรับปรุงตนเอง
พระราชวรมุนี
--------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น