วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่ง  ที่ปฏิรูปการศึกษาเพื่อต้อนรับคริสต์ศตวรรษที่ 21  ในการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานของญี่ปุ่น คณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดบทบาทของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน เพื่อการศึกษาไว้ดังนี้

การศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัด คณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้
                   1. ปรับเนื้อหาในหลักสูตรให้เหลือสิ่งที่เป็นพื้นฐาน  ลดจำนวนชั่วโมงเรียนในแต่ละวิชา รวมทั้งลดการเรียนด้วยการท่องจำ
                   2. ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตามแนวที่เขาถนัด โดยหลักสูตรจะต้องมีวิชาเลือกมากขึ้น
                   3. ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพและจริยธรรม โดยจัดกิจกรรมอาสาสมัคร การเล่นกีฬาจนเป็นนิสัย เป็นต้น
                   4. จัดเวลาให้เด็กได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้มา
การที่จะช่วยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้  คณะกรรมการปฏิรูปได้เสนอแนะว่า
                               1) จะต้องพัฒนาครูทั้งโรงเรียน โดยคุณภาพและทักษะของครูจะต้องได้รับการปรับปรุง
                               2) ผู้ทำงานในส่วนอื่นๆ จะต้องให้ความร่วมมือ  ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน  และจะต้องมีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ
                               3) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียนจะต้องได้รับการปรับปรุง
                               4) การศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนจะต้องได้รับการส่งเสริม
                               5) เด็กพิการทางกายและสมอง จะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

การศึกษาที่บ้าน คณะกรรมการปฏิรูปสรุปว่า บ้านจะต้องรับผิดชอบลักษณะนิสัยของเด็ก เพราะบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาทุกแขนง  บ้านจึงต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และความมีระเบียบวินัยขั้นพื้นฐาน โดยคณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดแนวปฏิบัติ  ดังนี้
                      1. จะต้องจัดให้มีเครือข่าย ที่จะช่วยให้พ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของลูก
                      2. ขยายกิจกรรมที่ พ่อ แม่ ลูก จะต้องทำร่วมกันให้มากขึ้น
                      3. สนับสุนด้วยวิธีการต่างๆ  ให้พ่อแม่ได้มีส่วนร่วมในการให้การศึกษาที่บ้าน

โปรแกรมการศึกษาที่ชุมชนจะต้องมีสวนร่วม คณะกรรมการปฏิรูปได้เสนอแนะแนวปฏิบัติไว้ดังนี้
                      1. แต่ละชุมชนจะต้องมีสถานที่ที่เด็กสามารถทำกิจกรรมได้
                      2. ขยายโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมในชุมชน
                      3. ส่งเสริมให้มีผู้นำชุมชนเกี่ยวกับกิจกรรมของเด็ก
ในการนี้ จำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาในชุมชน  โดยผ่านคณะกรรมการการศึกษาของท้องถิ่น

ความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน บ้าน และ ชุมชน คณะกรรมการปฏิรูปให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
                      1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียน เชิญคนในชุมชน และพ่อแม่เข้าร่วมในโปรแกรมต่างๆของโรงเรียน
                      2. ลดภาระของโรงเรียนในด้านอบรมดูแลระเบียบวินัย  ตลอดจนการแนะแนวลง
                      3. หาวิธีให้โรงเรียน  สามารถประเมินผลกิจกรรมภายนอกโรงเรียนของเด็กได้
                      4. ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของสมาคมครูผู้ปกคองอย่างจริงจัง

สำหรับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปฏิรูปกำหนดขึ้น เพื่อการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวม มีดังนี้
                      1. โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน จะต้องมีบทบาทในลักษณะร่วมมือกัน
                      2. จะต้องจัดการศึกษาให้เหมาะกับความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล
                      3. จะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษาที่เป็นสากล การศึกษาที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโรงเรียน พ่อแม่ และชุมชน ในการพัฒนาเด็กให้เหมาสมกับความถนัดของตน และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 21
                 ----------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                  ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมพ่ายแพ้แก่ความพยายามที่สม่ำเสมอ
                                                                       หลวงวิจิตรวาทการ
                                         -----------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น