เกี่ยวกับปัญหานี้ มีผู้ให้ความสนใจศึกษาหลายราย อาทิ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต นายแพทย์ประเวศ วะสี พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นต้น และได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้
1. การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ยังมีปัญหาเรื่องความเสมอภาคในโอกาสของผู้รับบริการ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ความด้อยโอกาสในที่นี้ หมายถึง ความด้อยโอกาสในการที่จะได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
2. การเรียนการสอนมุ่งเน้นการท่องจำ มากกว่าที่จะให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งไม่สามารถปลูกฝังการรักที่จะเรียนรู้ต่อไป อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในยุคสารสนเทศ
3. สัดส่วนเวลาเรียน เนื้อหาทางวิชาการและทักษะต่างๆในหลักสูตร ยังไม่เหมาะสม วิชาพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ มีเวลาเรียนน้อยเกินไป จึงมีแนวโน้มว่าพื้นฐานการศึกษาด้านนี้จะต่ำลง มีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ค่อนข้างน้อย เนื่องจากครูขาดความรู้ความเข้าใจ
4. ด้านการเรียนการสอน ซึ่งมีครูเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน แต่พบว่าขาดแคลนครูในบางสาขาวิชา โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี และภาษาต่างประเทศ นอกจากนั้น สถานะภาพของอาชีพครูตกต่ำ มีรายได้ต่ำแต่มีภาระงานมาก กระบวนการผลิตครูไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ คนเก่งๆไม่เรียนครู
5. เป็นการศึกษาที่เน้นการท่องจำจากตำรา ซึ่งจำยากเข้่าใจยาก ทำให้การเรียนเป็นเรื่องยาก ไม่สนุกน่าเบื่อ เมื่อหมดเงื่อนไขบังคับ จะหยุดเรียน ทำให้ไม่รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ครูใช้วิธีสอนตามหนังสือมากว่าการปฏิบัติจริง การเรียนการสอนยังยึดครูเป็นศูนย์กลาง
6. เนื้อหาสาระที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในโลกแห่งอนาคต อันได้แก่ ความรู้ด้านการจัดการ ภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังไม่เพียงพอ
7. การศึกษาทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชนหรือท้องถิ่นของตน ความแปลกแยกนี้ อาจจะรุนแรงถึงกับทำให้เกิดการดูถูกวิถีชีวิตของชุมชน ไม่มีความภูมิใจในท้องถิ่นของตน ในวัฒนธรรมของตน ภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกละเลย
8. รัฐผูกขาดการจัดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ระบบบริหารการศึกษาเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ โรงเรียนขาดอำนาจการตัดสินใจที่จะจัดการศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น ประชาชนมิได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และรับผิดชอบการศึกษาในท้องถิ่นของตน การศึกษายังไม่เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน คนเก่งๆจะทิ้งท้องถิ่นของตนไป ตลอดจนก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
9. การศึกษาดึงคนชนบทเข้าสู่เมือง เพื่อเข้ารับราชการหรือเพื่อรับใช้ระบบอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดปัญหาว่างงานขึ้นในเมือง ในขณะที่เกิดการขาดแรงงานในชนบท
ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา หากไม่มีการแก้ไข หรือทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง เชื่อว่าการศึกษาจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นอน
------------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ผู้ที่ไม่เคารพตนเอง ย่อมเป็นที่ดูแคลนของผู้อื่น
สามก๊ก
---------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น