วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ใช้เมื่อบุคคลมีความต้องการที่ขัดแย้งกัน จึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อสนองความต้องการที่แต่ละฝ่ายมีอยู่

การแก้ปัญหาวิธีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดปัญหาขึ้นมาใหม่ หาทางเลือกใหม่ๆ  และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่เหลื่อมกันอยู่

วิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง สามารถนำไปใช้ได้ทั้งปัญหาระหว่างบุคคล ครอบครัว องค์การ และสังคมโดยรวม

เทคนิควิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง  ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1.กำหนดปัญหาในรูปของความต้องการ เพราะปกติคนมักจะมองว่าปัญหา และวิธีแก้ปัญหาเกิดจากความขัดแย้ง แต่หากกำหนดเป็นความต้องการ จะสามารถสนองความพอใจของทุกฝ่ายได้ การทราบถึงความต้องการ จะช่วยให้ทราบปัญหาและวิธีแก้ปัญหาของแต่ละฝ่าย ในขั้นนี้ สิ่งที่ต้องยึดถือคือ ยึดมั่นในความต้องการของตน ฟังเสียงสะท้อนจากคนอื่น จนกระทั่งเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วใช้ความต้องการนั้นสรุปเป็นปัญหา

ขั้นที่ 2 การระดมสมอง การระดมสมอง เป็นวิธีที่ได้แนวความคิดในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เป็นความพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้มากที่สุด  การระคมสมองก็เพื่อแสดงว่า วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมไม่ได้มีวิธีเดียว

ขั้นที่ 3 เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย  วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด จะต้องเป็นวิธีการที่ได้รับฉันทามติที่ทุกคนเห็นพ้องกัน

ขั้นที่ 4 วางแผนว่าใครจะทำอะไรที่ไหนและเมื่อไร  ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา จะต้องตัดสินใจว่า ใครทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไร บางครั้งจะต้องต้องตัดสินว่าจะใช้วิธีใดด้วย และต้องเขียนข้อตกลงรวมทั้งรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อเตือนความจำ

ขั้นที่ 5 นำแผนไปปฏิบัติ การนำแผนไปปฏิบัติจะต้องทำให้เสร็จตามกำหนด และเป็นไปตามข้อตกลง

ขั้นที่ 6 ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา เพื่อจะทราบว่าผลของการแก้ปัญหาดำเนินไปได้ดีเพียงใด หากไม่ได้ดีจะได้ปรับแผนใหม่ หรือวางแผนใหม่ ในขั้นนี้ ควรมีการอภิปรายในเรื่องต่อไปนี้ประกอบการประเมินด้วย คือ
          - แต่ละคนรู้สึกอย่างไรกับกระบวนการแก้ปัญหาที่ได้ทำมา
          - แต่ละคนชอบอะไรมากที่สุดในกระบวนการแก้ปัญหา
          - แต่ละคนชอบอะไรน้อยที่สุดในกระบวนการแก้ปัญหา
          - อะไรที่ทำให้บางคนไม่สบายใจ
          - อะไรที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจ
          - สิ่งที่อยากจะทำหรือพูดแต่ไม่ได้ทำหรือพูด
          - สิ่งที่อยากให้คนอื่นพูดหรือทำ
          - ในโอกาสต่อไปมีอะไรที่แต่ละคนจะทำได้ดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม  แม้จะดำเนินการทั้ง 6 ขั้นตอน แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยร่วมมือกัน อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก
        1. ไม่จัดการแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ก่อน ก่อนที่จะเริ่มแก้ปัญหา ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังมีอารมณ์รุนแรง จะต้องแก้ไขให้อารมณ์เป็นปกติก่อน
        2. กำหนดปัญหาไม่เหมาะสม  ไม่เป็นไปตามความต้องการของแต่ละฝ่าย
        3. ในระหว่างระดมสมองมีการประเมิน วิจารณ์ ให้ยกตัวอย่าง หรือขอให้อธิบายแนวความคิดของบุคคลที่เสนอ ทำให้ขัดจังหวะในการระดมสมอง ความคิดถูกขวางกั้น
        4. ไม่ทำรายละเอียดให้ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ก่อให้เกิดความร่วมมือ
        5. ไม่ติดตามผล ว่าการดำเนินแต่ละขั้นเป็นอย่างไร  ทำให้ไม่ทราบความก้าวหน้า
        6. มีการปิดบังซ่อนเร้นสาระสำคัญ บางครั้งในการดำเนินการแก้ปัญหา ทุกคนไม่ได้เปิดเผยปัญหาและความต้องการของตนออกมาทั้งหมด มีการปิดบังซ่อนเร้น ทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลได้
        7. ดำเนินกระบวนการกลับไปกลับมา  ไม่สามารถหาฉันทามติในการแก้ปัญหาได้จนต้องกลับไปทบทวนขั้นตอนขั้นต้นๆ  จนทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า

ทั้งหมดนี้ เป็นสาเหตุทำให้การแก้ปัญหาขาดประสิทธิผลได้ แม้จะดำเนินการตามขั้นตอนของวิธีร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกประการแล้วก็ตาม
                  -----------------------------------------------------------------------------------------------

                                                            สาระคิด

ในการแก้ปัญหาจะต้องระลึกเสมอว่า ทุกปัญหามีวิธีแก้ การปฏิเสธปัญหาไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นมา
                                   -------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น