วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กระบวนการแก้ปัญหา

ทุกคนจะต้องแก้ปัญหา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หากเป็นปัญหาเล็กๆ ก็อาจใช้วิธีลองผิดลองถูก การเรียนรู้ในอดีต มาแก้ปัญหาได้ แต่หากเป็นปัญหาที่ซับซ้อน การแก้ปัญหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการ ก็จะช่วยให้การแก้ปัญหาง่ายและมีประสิทธิผล

กระบวนแก้ปัญหาต่อไปนี้ เน้นกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นระบบเป็นสำคัญ เป็นกระบวนแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาตร์ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆดังนี้

ขั้นที่ 1 การตระหนักรู้ปัญหา  ในการแก้ปัญหา การตระหนักรู้ปัญหามีความสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้ว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้น มีความสำคัญมาก เพราะการตระหนักรู้ปัญหาตั้งแต่ปัญหายังเล็กอยู่ จะแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าที่จะปล่อยปัญหาให้ใหญ่โตขึ้นมา ซึ่งบางครั้ง   อาจใหญ่จนไม่สามารถจะแก้ได้ เกิดความหายนะต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลจำนวนมาก

ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูล  ในการแก้ปัญหา ผู้แก้ปัญหาจำเป็นจะต้องรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เข้าใจปัญหาชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องตามเป้าหมายมากขึ้น

ขั้นที่ 3 การกำหนดปัญหา  เป็นขั้นที่ทำความชัดเจนกับปัญหา จนแยกแยะได้ว่า ปัญหาใดมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ปัญหาใดมีความสำคัญรองลงมา  การแยกแยะปัญหาในขั้นนี้ จะต้องยึดข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 2 เป็นสำคัญ เพื่อตอบคำถามว่า "ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร" "มีทางเลือกใดบ้างที่ใช้แก้ปัญหาได้" ฯลฯ

ขั้นที่ 4 การระบุเป้าหมาย ในการแก้ปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องระบุเป้าหมายเฉพาะ หรือผลที่จะได้รับหลังจากแก้ปัญหาให้ชัดเจน  แต่หากไม่กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน กระบวนแก้ปัญหาอาจผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพได้

ขั้นที่ 5 การสร้างวิธีแก้ปัญหา  ความสำเร็จของการแก้ปัญหา จะสัมพันธ์โดยตรงกับความสามารถในการสร้างวิธีแก้ปัญหา ถ้าผู้แก้ปัญหาสามารถสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาได้มากเท่าไร จะเกิดผลดีกับกระบวนแก้ปัญหามากขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญในการสร้างวิธีแก้ปัญหา คือการมี จินตนาการ และการตัดสินใจ และวิธีการที่ใช้ในกันมากในขั้นนี้ คือ การระดมสมอง

ขั้นที่ 6 การเลือกวิธีแก้ปัญหา เริ่มด้วยการจดรายการวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งหมด หลังจากนั้นกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัสินเลือกวิธีแก้ปัญหา  เช่น เวลาที่ใช้ ค่าใช้จ่าย ความมีประสิทธิผล  และการยอมรับ เสร็จแล้วให้ค่าในแต่ละเกณฑ์ จนได้วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม

ขั้นที่ 7 การวางแผนนำวิธีแก้ปัญหาไปใช้  ในการวางแผนนำวิธีแก้ปัญหาไปใช้ ความสำคัญอยู่ที่วิธีแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาที่จะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผล จะต้องเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีคุณภาพ และคนอื่นสามารถรับได้

ขั้นที่ 8 การประเมินผล เป็นการประเมินความมีประสิทธิผลของวิธีแก้ปัญหา คือต้องการจะทราบว่า วิธีแก้ปัญหาทำให้เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่  เพราะถ้าไม่ จะเกิดปัญหาใหม่ตามมา  แต่ถ้าการแก้ปัญหามีประสิทธิผล  การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตามเป้าหมาย ข้อมูลที่ได้จากการการประเมินผล ถือว่าเป็นข้อมูลป้อนกลับอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการแก้ปัญหาได้

ในทางปฏิบัติ การนำวิธีการและกระบวนแก้ปัญมาใช้นั้น สามารถลดหรือเพิ่มขั้นตอน ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของปัญหา คุณสมบัติของผู้แก้ปัญหา ตลอดจนเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆได้
                    -------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคิด

                    การเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาที่ชัดเจน จะเป็นผู้แก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

                                        -----------------------------------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น