วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ภาวะหมดไฟของคนทำงาน

ภาวะหมดไฟ (burn out) เป็นภาวะการขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน เริ่มด้วยมีอาการเตือน เช่น รู้สึกคับข้องใจ ระเบิดทางอารมณ์ ถอยหนี มีปัญหาทางสุขภาพ รู้สึกแปลกแยก  การทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน  มีการใช้ยาตลอดเวลา ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เหล่านี้ เป็นต้น

ภาวะหมดไฟ ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยทางกาย หรือเป็นโรคประสาท แม้จะมีผลกระทบทางกายและทางจิตก็ตาม เป็นแต่เพียงไม่สามารถทำให้เกิดความสนใจเพียงพอที่จะทำงาน ความจูงใจที่จะทำงานหายไป

ภาวะหมดไฟมีอาการอย่างไร ภาวะหมดไฟจะมีอาการ ดังต่อไปนี้

          1. อารมณ์เชิงลบ คือมีความรู้สึกคับข้องใจ โกรธ กดดัน วิตกกังวล แม้ว่าอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องปกติของคนทำงาน  แต่คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟจะมีอารมณ์ในเชิงลบบ่อยมาก จนเรื้อรัง และจะบ่นถึงความเหนื่อยอ่อนทางอารมณ์อยู่เป็นประจำ

          2. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเหี่ยวแห้งทางอารมณ์ ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทั้งในบ้านและที่ทำงานลำบากมากขึ้น และเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้เป็นเหยื่อของภาวะหมดไฟ  จะมีปฏิกริยาโต้กลับเกินกว่าเหตุ ด้วยการระเบิดทางอารมณ์ หรือทำตัวเป็นศัตรูอย่างจริงจัง ทำให้การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวเพิ่มความลำบาก ผู้เป็นเหยื่อของภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่จะหนีจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ปลีกตัวไปอยู่เงียบๆคนเดียว

          3. ปัญหาสุขภาพ เนื่องจากไม่มีอารมณ์และคุณภาพของความสัมพันธ์เลวลง  ทำให้ความยืดหยุ่นทางกายลดลง เกิดความเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น เป็นหวัด ปวดหัว นอนไม่หลับ  เกิดขึ้นบ่อยๆ จนรู้สึกเหนื่อยและเพลียเป็นประจำ

           4. การปฏิบัติงานลดลง ขณะที่อยู่ในภาวะหมดไฟ บุคคลจะรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่มีความตื่นเต้นกับโครงการต่างๆ ในบางกรณี ถึงกับขาดความมุ่งมั่นในการทำโครงการต่างๆ  ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน  มีคุณภาพของผลผลิตลดลง

          5. ใช้สารที่เป็นโทษ เพื่อแก้ปัญหาความเครียดอันเกิดจากความขัดแย้งในการทำงาน บุคคลจะดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารมากหรือน้อยเกินไป ใช้ยามากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น ตลอดจนดื่มกาแฟมากขึ้น มากจนทำให้เกิดสารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย

          6. ควารู้สึกไร้ความหมาย  เป็นความรู้สึกว่าทำไปทำไม ทำไปก็เท่านั้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรู้สึกของผู้มีภาวะหมดไฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนที่กระตือรือร้นและอุทิศตนเพื่องาน กลายเป็นคนทำงานที่ขาดเป้าหมาย ทำไปวันๆ

ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร สถานะการณ์ในที่ทำงานในลักษณะต่อไปนี้ สนับสนุนให้เกิดภาวะหมดไฟ กล่าวคือ

               1. การวิจารณ์ของเจ้านาย ไม่ว่าจะทำงานหนัก หรือทำงานดีอย่างไร เจ้านายจะมีเรื่องตำหนิอยู่เสมอ

               2. การทำงานมีปัญหาที่แก้ไม่ได้

               3. ขาดการยอมรับ แม้ว่าจะมีผลงานดีอย่างไร ก็ไม่เป็นที่สังเกตของผู้บังคับบัญชา ถึงเวลาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งก็ไม่ได้รับการพิจารณา

               4. คลุมเครือ คือไม่สามารถตอบได้ว่างานที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร อันเนื่องมาจากขาดข้อมูล ข่าวสาร  หรือมีเป้าหมายไม่ชัดเจน

               5. เป็นภาะกิจที่ไม่มีโอกาสจะสิ้นสุด เป็นงานที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด

               6. ไม่มีสถานการณ์ที่จะได้รับชัยชนะ เป็นงานที่ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไร จะต้องมีคนไม่พอใจเสมอ

               7. งานหนักเกินไป ปกติการทำงานหนัก ตัวมันเองไม่ทำให้ขาดแรงจูงใจ ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้  อาจจะเหนื่อยแต่แรงจูงใจยังคงอยู่ แต่หากตนเองรู้สึกว่าทำงานหนักเกินไป จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดภาวะหมดไฟ

ภาวะหมดไฟถ้าไม่มีการแก้ไข อาการเหล่านี้จะขยายจนเกิดอาการกลัวที่จะไปทำงาน และหากเลวร้ายกว่านั้น  ภาวะหมดไฟจะกระจายไปทั่วทุกเรื่องของชีวิต เพราะไม่มีใครที่มีภาวะหมดไฟในที่ทำงาน จะมีพลังและความกระตือรือร้นเมื่ออยูที่บ้าน

จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในการทำงานจะต้องปรับตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้เวลา ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์การ โดยทำงานตามความคิด ความเชื่อ และค่านิยมขององค์การ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความคับข้องใจ ความกดดัน ฯลฯ อันจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟ
                   --------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                   No one can make you feel inferior without your consent.

                                                                         Eleanor Roosevelt
                    ---------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น