วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกี่ยวกับการทำงานครอบครัวไทยอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างไร

การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อการทำงานมาก ฉะนั้น การจะเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยได้อย่างกระจ่างชัด จำเป็นจะต้องเข้าใจการฝึกอบรมเพื่อการทำงานในวัยเด็กอย่างชัดเจนก่อน

สังคมไทยเน้นพฤติกรรมของคนไทยในวัยต่างๆไม่เหมือนกัน คือในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว จะเน้นหนักเรื่องการเที่ยว การเล่นสนุกสนาน หาความสุขจากการรื่นเริงบันเทิงต่างๆ วัยผู้ใหญ่และวัยกลางคน จะเน้นในเรื่องการทำงานทำการ สร้างหลักฐานให้แก่ครอบครัว การเที่ยวสนุสนานลดน้อยลง  ส่วนวัยชรา จะเน้นหนักในเรื่องการทำบุญ  สะสมบุญ ซึ่งเปรียบเหมือนการแสวงหาทรัพย์ติดตัวไปใช้ในชาติหน้า

ซึ่งสอดคล้องกับนักสังคมวิทยาบางคน ที่ได้แบ่งวัยของคนไทยออกเป็น วัยเล่น วัยเรียน วัยทำงาน และวัยทำบุญ ซึ่งช่วยให้เห็นชัดเจนว่า ในวัยเด็กการอบรมเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวไทย  ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงานเท่าที่ควร

เด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้พึ่งตนเองตามประสาเด็ก แต่ค่อนข้างจะถูกสอนให้พึ่งผู้อื่นเพื่อความพอใจของตนเอง เด็กจะถูกสอนให้รู้จักแหล่งที่พึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ เด็กถูกสอนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมว่า แม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กกำพร้าจึงเป็นเด็กที่น่าสงสารมาก เนื่องจากไม่มีที่พึ่ง เด็กจึงเติบโตขึ้นมาด้วยความดีของคนอื่น จากการที่เด็กนับถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่

การอบรมเลี้ยงดูเด็กของคนไทย ไม่เน้นการฝึกให้พึ่งตนเอง การให้เด็กรู้จักทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง และการรับผิดชอบตนเองอย่างจริงจัง แต่เน้นให้รู้จักพึ่งผู้ใหญ่ ครอบครัวจะอบรมแบบให้ความปกป้องคุ้มครอง ให้ความรัก แต่ไม่เน้นให้เหตุผล

แม่คนไทยมักจะปกป้องเด็กมากเกินไป จึงทำให้ค่านิยมความเป็นอิสระที่มีผลทำให้มีความกล้าเสี่ยง กล้าเผชิญ  ทำให้เด็กรู้จักช่วยตัวเอง มีความสำคัญรองจากค่านิยมอื่นๆ

พ่อแม่จะสงสารและเป็นห่วงลูกมากเกินไป และมักจะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เด็ก แม้เด็กจะโตพอที่จะทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตนเองแล้วก็ตาม

พ่อแม่ได้สร้างค่านิยมแบบผิดๆให้กับเด็ก เช่น ถ้าลูกไปโรงเรียน กลับมาบ้านจะไม่ยอมให้ทำงานอื่นๆ เน้นการเรียนอย่างเดียว เพราะอยู่ในวัยเรียน จีงเป็นการสร้างนิสัยหยิบโหย่งขึ้นมาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางคนเห็นว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กไทย มีความแตกต่างไปตามฐานะของผู้ปกครอง กล่าวคือ

ครอบครัวชาวไร่ชาวนา มีการอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบไม่มีพิธีรีตอง และไม่เข้มงวดมากนัก ส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักเฉพาะการปฏิบัติต่อญาติพี่น้อง ต่อผู้มีอำนาจ ต่อผู้มีพระคุณ และต่อพระสงฆ์

ครอบครัวผู้ดีเก่า จะอบรมเลี้ยงดูแตกต่างไปจากครอบครัวชาวไร่ชาวนา กล่าวคือ มีความเข้มงวดพิถีพิถันในเรื่องการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับกิริยามรรยาท ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษากับเด็กชาย เพื่อให้สืบสกุล ส่วนเด็กหญิงไม่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามากนัก แต่ได้รับการทนุถนอมกว่าเด็กชาย  และ ครอบครัวผู้ดีเก่าจะถือว่า ลูกเป็นทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง ควรแก่การทนุถนอมมากกว่าจะใช้งาน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กเป็นคนหลงตนเองหรือเห็นแก่ตัวเมื่อโตขึ้น

ครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งพอจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยสมัยใหม่ มีการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างไปจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาและครอบครัวผู้ดีเก่า ที่สำคัญคือ การเน้นเรื่องความสามารถในการศึกษาและการทำงาน ทำให้เด็กของครอบครัวชนชั้นกลาง มีทักษะในการแข่งขันมากกว่าเด็กในครอบครัวชาวไร่ชาวนาและครอบครัวผู้ดีเก่า

 ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า เด็กไทยไม่ได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการทำงานอย่างจริงจังเท่าที่ควร โตขึ้นจึงไม่ค่อยจริงจังกับการทำงาน ไม่รักงาน ทำงานเพราะความจำเป็น การพัฒนาประเทศจึงไม่ก้าวไปข้างหน้าได้ดีเท่าที่ควร
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                   สาระคิด

ลักษณะที่พ่อแม่(ไทย)ต้องการให้ลูกมีมากที่สุดคือ เชื่อฟัง มีความประพฤติดี สำหรับลักษณะอื่นๆที่ต้องการ ได้แก่ มีความสุภาพ เล่นกับเด็กอื่นๆได้ดี นับถือพ่อแม่และญาติคนอื่นๆ ส่วนลักษณะที่ทำให้เด็กถูกลงโทษ มี ซน ไม่เชื่อฟัง ทะเลาะกับญาติพี่น้อง แตะต้องสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม

                                                             Henry M. Graham

*****************************************************************





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น