วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โรงเรียนกับการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักการทำงาน


การศึกษาเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของชีวิต โดยพัฒนาคุณภาพในตัวบุคคลแต่ละคน ให้เป็นคนที่เจริญเต็มที่ และมีความสามารถในการผลิต

การศึกษาเพื่อการฝึกอบรมคนให้รู้จักการทำงานเพื่อการผลิต จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

 จริงอยู่ ทักษะ ความรู้ และสมรรภาพในการทำงานของมนุษย์สามารถพัฒนาได้หลายทาง แต่ที่เด่นที่สุด ก็คือ การพัฒนาโดยอาศัยการศึกษาในระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา และการศึกษาจะสร้างค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อการทำงาน

ฉะนั้น ประเทศที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง จะต้องยอมรับว่าการศึกษาและการทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และควรเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย

แต่ในความเป็นจริงปรากฎว่า สิ่งที่การศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาทำได้ มักเป็นแค่การผลิตคน ที่มีความรู้ทางทฤษฎีโดยอาศัยการท่องจำ  เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ทำอะไรไม่ค่อยเป็น หรือไม่กล้าทำอะไร รวมทั้งไม่ค่อยชอบทำงานหนัก อันเป็นลักษณะที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนา

หากพิจารณาการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาในทุกแง่ทุกมุม สามารถสรุปได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัญหาการศึกษาในลักษณะต่อไปนี้

               1) การเรียนการสอนไม่ได้เสริมสร้างทักษะเพียงพอ

               2) โรงเรียนไม่ช่วยให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจบการศึกษาโดยปราศจากการฝึกอบรมเพื่ออาชีพ

               3) การเรียนการสอนจะเป็นไปตามตำรา มีผลทำให้ผู้จบการศึกษามีทัศนคติชอบการทำงานในสำนักงาน

ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ  แต่สาเหตุหนึ่งเกิดจากความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนครั้งแรก ที่ไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นการศึกษาเพื่อมวลชน แต่จัดขึ้นเพื่อชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของคนกลุ่มน้อยที่เป็นเจ้าของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เชื่อว่างานใช้มือเป็นเรื่องของคนรับใช้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนจึงมีขึ้นเพื่อฝึกอบรมนักปราชญ์ ผูัปกครอง และไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ใช้มือไม่ว่าโดยวิถีทางใดๆ

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาก็ยังไม่ได้สลัดการตั้งข้อรังเกียจงานใช้มือออกไป นักเรียนไม่มีโอกาสที่จะใช้ทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป เป็นผลให้นักเรียน เกิดความคิดต่อไปว่า เขาไม่จำเป็นจะต้องทำงานจนกว่าจะเรียนหนังสือจบ

สำหรับการจัดการศึกษาเพื่อการทำงานนั้น มีผู้แสดงความคิดเห็นหลายทัศนะดังนี้

           ทัศนะที่ 1. จัดโดยการรวมการเรียนการสอนเข้าเป็นหน่วยเดียวกันกับการทำงาน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำงานครึ่งหนึ่งเรียนครึ่งหนึ่ง โดยผู้เรียนเรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติควบคู่กันไป

          ทัศนะที่ 2 จัดโดยเชื่อมเนื้อหาเข้ากับการนำไปใช้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะสอนเฉพาะเรื่องที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้จริง หรือทุกสิ่งที่สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในวันใดวันหนึ่ง ไม่สอนเพียงเพื่อให้รู้ โดยเฉพาะความคิดที่เป็นนามธรรม ไม่ควรสอน

           ทัศนะที่ 3 จัดโดยการกำหนดเนื้อหา จากปัญหาในการปฏิบัติ และมีความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้น ซึ่งหมายถึงว่า โรงเรียนจะต้องเริ่มด้วยการสำรวจปัญหาของชุมชนแล้วหาทางแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่จัดการศึกษาเพื่อการทำงาน โดยการศึกษาของจีน การทำงานด้วยมือ จะถูกสอดแทรกอยู่ในทุกระดับการศึกษา เช่น

ระดับประถมศึกษา จะมีสวนครัวขนาดใหญ่เพื่อปลูกถั่วเหลือง ผัก และ ผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่เอาไข่ เลี้ยงแพะเพื่อรีดนม อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดอาหารของนักเรียนอีกทางหนึ่งด้วย

ระดับมัธยมศึกษา นักเรียนจะถูกแบ่งเวลาออกเป็นการทำงานเพื่อการผลิต และเวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้า แต่ละโรงเรียนจะมีโรงฝึกงาน เพื่อสอนงานไม้ งานโลหะ และการฝึกอบรมทักษะอื่นๆ โรงฝึกงานจะผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะเป็นทุนเพื่อใช้จ่ายในโรงเรียน

ทุกวันนี้โรงเรียนของจีนทั้งในเมืองและชนบท ได้รวมการศึกษาในห้องเรียนเข้ากับแรงงานการผลิต ระบบการศึกษาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมเด็กทางด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อปฏิรูปสังคมไปด้วย โดยลดความแตกต่างระหว่างงานใช้มือและงานใช้สมอง และเป็นการเน้นให้เห็นว่าการทำงานด้วยมือมีความสำคัญเท่าๆกับการทำงานด้วยสมอง

นั่นคือ ถ้าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในประเทศ  จะต้องสร้างหลักสูตร การเรียนการสอน ให้การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนทำให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในทุกระดับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

เนื้อหาที่จัดให้เรียนและวิธีสอน(ของไทย) ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า"มิใช่"รู้เพื่อปฏิบัติ"และถ้าจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของผู้เรียน ก็มักจะเล็งไปที่"สิ่งไม่ควรประพฤติ" มากกว่า"วิธีที่จะประพฤติให้เหมาะสม"

                                                                      เฉลียว บุรีภักดี
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น