วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกี่ยวกับการทำงานโรงเรียนฝึกอบรมเด็กไทยอย่างไร

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง และถ่ายทอด ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม  และพฤติกรรมในการทำงาน   ให้กับมนุษย์  โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นต้นไป

แต่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ไม่สัมพันธ์กับความต้องการอันจำเป็นของท้องถิ่นและตลาดแรงงาน ตลอดจนมีหลักสูตรที่ไม่จบในตัวเอง ทำให้ต้องมีการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ระบบการศึกษาไทยทำให้ดูเหมือนว่า มีการแยกเรื่องวิชาการและการปฏิบัติออกจากกัน มีผลทำให้เกิดงานสองประเภทในสังคม คืองานใช้สมองและงานใช้แรงงาน นอกจากนั้่น ยังมีผลทำให้เกิดความคิดที่ว่า ผู้ทำงานประเภทแรกเป็นบุคคลชั้นสูง และประเภทหลังเป็นบุคคลชั้นต่ำ

ระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นระบบที่สร้างคนให้มืออ่อนตีนอ่อน ตอนแรกพอจะทำอะไรได้บ้าง แต่พอจบการศึกษาออกมาแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้คนทำงาน

หากดูหลักสูตรจะพบว่า หลักสูตรมีเนื้อหาสาระที่เน้นหนักในด้านวิชาสามัญ ทำให้เด็กมุ่งเรียนในระดับสูงขึ้น  เนื้อหาที่จัดให้เรียนและวิธีสอน ส่วนใหญ่ให้ความรู้เพื่อ"รู้ไว้ใช่ว่า" มิใช่ "รู้เพื่อการปฏิบัติ" การปฏิบัติอย่างที่มีในชีวิตจริงมีน้อยมาก เด็กไทยจึงไม่อาจทำงานใดๆ เมื่อจบการศึกษาในแต่ละขั้นตอน การวัดผลนักเรียนก็มิได้วัดผลการพัฒนา แต่วัดเพื่อหาคำตอบว่าได้หรือตกเท่านั้น

การเรียนการสอนจะเน้นการจำ จำความดีที่มีมาในอดีตซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเรียนรู้ กิจกรรมในการเรียน คือ การจำแบบนกแก้วนกขุนทอง กระบวนการเล่าเรียนจึงเป็นกระบวนการท่องจำ และแสดงความเห็นจากความจำที่ได้เรียนมาเท่านั้น

 นักเรียนมีกิจกรรมที่สำคัญคือ ฟัง สังเกต อ่าน ท่อง และเขียน กิจกรรมของครูคือ บรรยาย อบรมความประพฤติ ให้งานนักเรียนทำ และสอบ  โดยนักเรียนแต่ละคนมีกิจกรรมเหมือนๆกัน

 แม้แต่การเรียนการสอนในเรื่องที่ตรงกับสภาพการณ์ที่ผู้เรียนเผชิญอยู่ในโลกของความเป็นจริง ก็เป็นการสอนให้รู้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาได้อาศัยแต่เพียงคำพูดเท่านั้น โดยไม่มีการปฏิบัติจริง

การเรียนการสอนในโรงเรียน เน้นที่ความรู้ เน้นการแข่งขัน  การเรียนการสอนจึงพยามปรับปรุงเพื่อให้มีการสอนความรู้มากขึ้น ให้ดีขึ้น ถ้าเปรียบเด็กเหมือนขวด ครูพยายามกรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่สนใจว่าเด็กแต่ละคนเรียนได้หรือไม่ ขอแค่ครูได้สอนให้จบหลักสูตรก็แล้วกัน

ครูจำนวนมากใช้วิธีบอกความรู้แก่เด็ก ทำให้เด็กไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักสังเกต ไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินใจด้วยตนเอง นอกจากนั้น สิ่งที่ครูสอนมักจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันเท่าไรนัก

เราเคยมีโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม ก็มีหลักสูตรที่ไม่จบในตัวเอง จึงทำให้นักเรียนไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้อย่า่งแท้จริง ประกอบกับเนื้อหาที่เปิดสอนไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น การฝึกและการปฏิบัติไม่ทำกันอย่างจริงจัง ทำให้เด็กไม่สามารถทำงานได้เป็นชิ้นเป็นอัน

หากมองในภาพรวมของการบริหาร โรงเรียนมีปัญหามากที่สุดอันดับหนึ่ง คือการไม่สามารถบริหารหลักสูตรได้เต็มที่ เพราะปัญหาต่างๆ เช่น ขาดครู อุปกรณ์ และอาคารสถานที่

นั่นคือ จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเด็กเพื่อการทำงาน แต่ให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้เพื่อการสอบและการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                       สาระคิด

วิธีสอนของระบบการศึกษาไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการป้อน และมีลักษณะเผด็จการ นักเรียนแทบไม่มีโอกาสอภิปราย นักเรียนถูกกำหนดให้ยอมรับสิ่งที่ครูสอนว่าถูกต้อง เพราะครูเป็นบุคคลที่รู้ทุกอย่าง

                                                              ไกรยุทธ ธีรตยาคีนันท์
*****************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น