วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การสร้างความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษานำไปสู่ความเสมอภาคในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความเสมอภาคที่แท้จริง จะต้องเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน

การจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชนได้อย่างมีประสิทธิผล วิธีหนึ่งก็คือ การสร้างความเสมอภาคในโอกาส เพื่อให้ผู้เรียนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งการสร้างความเสมอภาคในโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถทำได้ดังนี้

1. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางภูมิศาสตร์ เป็นการจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้อย่าเงเพียงพอ และทำให้การศึกษาในชนบทมีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจในเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การอบรมครู และการมีอิสระในการใช้งบประมาณระดับหนึ่ง โดยทั้งหมดจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายแห่งชาติ ซึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอกับความหลากหลายของท้องถิ่น

2. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเพศ  เป็นการจัดการศึกษาที่ให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น เหตุที่เด็กหญิงมีโอกาสน้อยกว่าเด็กผู้ชาย อาจเกิดจากประเพณีของสังคม ที่ไม่เห็นความสำคัญที่สตรีจะต้องมีการศึกษา ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศนั้น อาจทำได้ด้วยการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่เปิดหลักสูตรให้นักเรียนหญิงมีโอกาสเลือกเรียนหลักสูตรได้มากขึ้น หรือด้วยการบรรจุผู้หญิงใหทำงานในตำแหน่งที่ไม่เคยบรรจุผู้หญิงมาก่อน เพื่อเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง

3. แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ จากปรากฎการณ์ที่พบเห็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ก็คือ การที่นักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่จะเรียนมากกว่า เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่า และเรียนในระดับที่สูงขึ้นมากกว่า ในระดับอุดมศึกษาซึ่งนักเรียนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่าและมีโอกาสมากกว่าอยู่แล้ว แต่รัฐยิ่งทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อการศึกษาระดับนี้ นอกจากนั้นยังมีทุนอุดหนุนมากมายเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนฟรี การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรทำ คือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปล่าสำหรับทุกคน และรัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น จะต้องปรับปรุงการเรียนรู้ทางการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกของการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาสามารถหาเงินเพื่อใช้จ่ายในระหว่างเรียนได้ด้วย

4. การจัดบริการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อลดโอกาสความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา รัฐจะต้องหันมาเอาใจใส่การศึกษาก่อนประถมศึกษาให้มากขึ้น โดยจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆตามทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอาจขยายศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัดและในชนบท  โดยให้บริการทั้งในเรื่องโภชนาการ สุขภาพ สันทนาการ และกิจกรรมทางการศึกษา

5. สร้างทางเลือกสำหรับการเรียนในระดับมัธยมศึกษา การศึกษาระดับมัธยมศึกษามีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแก้ปัญหาขาดแคลนสถานศึกษา หรือปัญหาเด็กไม่ยอมเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่หลากหลาย เช่น จัดโรงเรียนที่เป็นศูนย์กลางของชนบท โรงเรียนประจำ  จัดให้นักเรียนทำงานสลับกับการเรียนในโรงเรียน หลักสูตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือจัดโรงเรียนให้เด็กหารายได้ไปพร้อมๆกับการเรียน เป็นโรงเรียนเพื่อการผลิต โดยการเรียนในโรงเรียนเกื้อกูลกับการทำงานในโรงงาน วิชาสามัญมีความสัมพันธ์กับกระบวนการผลิต เป็นต้น

6. สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่คนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งมีหลายวิธีที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ด้วยการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษานอกระบบที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสแล้ว ยังช่วยให้การศึกษาในระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้ง 6 วิธีดังกล่าวนี้ จะช่วยลดความไม่เสมอภาคในโอกาสได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันเป้าหมายในการที่จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนก็จะใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น และในการจัดการศึกษาจะต้องระลึกเสมอว่า ความเสมอภาคทางการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องคู่กันเสมอ และถ้าจะให้สมบูรณ์ตามปรัชญาและเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากที่สุด การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเฉพาะในระบบโรงเรียนย่อมจะไม่เพียงพอ จะต้องจัดการศึกษานอกระบบและการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยควบคู่ไปด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

           การศึกษาที่ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับ เป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น