วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

หน้าที่ของมหาวิทยาลัย

หน้าที่ของมหาวิทยาลัย หมายถึง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ พันธกิจ หรือ ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย เดิมมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือการสอนและการวิจัย โดยหน้าที่ทั้งสองมุ่งไปที่การให้การศึกษาและการฝึกอบรมกำลังคนระดับสูง ตลอดจนสร้างความรู้ใหม่ๆ ต่อมาจึงได้เกิดหน้าที่ประการที่สามขึ้น คือหน้าที่ในการส่งเสริมและบริการชุมชน

1.หน้าที่วิจัย

การวิจัยในใหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนานักศึกษาเพื่อสร้างนักวิจัย

ปัจจุบันการวิจัยเพื่อการพัฒนามีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะแนวโน้มการพัฒนาในทุกวันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมซึ่งตั้งอยู่บนฐานของวัตถุดิบและพลังงาน มาเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ทำให้ความรู้เป็นยุทธวิธีของการพัฒนาแทนแร่ธาตุและน้ำมันปิโตรเลี่ยม ความรู้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยจึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแทนเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เป็นเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง

นอกจากมหาวิทยาลัยจะสร้างเทคโนโลยีต้นแบบแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ถ่ายโอนเทคโนโลยีจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือจากวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง เช่น จากห้องปฎิบัติการไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และจากโรงงานอุตสาหกรรมไปยังตลาด ในลักษณะของธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อสังคมจะได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน ในการที่จะเสริมสร้างวิสาหกิจและสร้างงานใหม่

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึงจริยธรรม มิฉะนั้นจะเกิดการคุกคามชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศน์

2. หน้าที่สอน

การสอนเป็นหน้าที่ที่คู่กับสถาบันการศึกษา เป็นภารกิจของการศึกษาในการพัฒนาบุคคล หน้าที่สอนไม่จำกัดเฉพาะเนื้อหาวิชาการที่เกี่ยวกับศาตร์ต่างๆเท่านั้น แต่ต้องสอนให้นักศึกษารู้จักตนเอง มีความขยัน มีความฉลาด

การสอนควรเป็นการเปิดโอกาสไปสู่ความรู้ใหม่ๆ นักศึกษาควรได้รับการศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ รักความจริง และปราศจากความเห็นแก่ตัว การศึกษาของนักศึกษาไม่ควรมุ่งเฉพาะเพื่อการทำงาน โดยละเลยเรื่องจิตใจ ปัญญา และการพัฒนาคุณธรรม

การสอนจะต้องให้นักศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจ เพื่อการสร้างสรรค์สังคม เรียนรู้ที่จะร่วมมือกับคนอื่นและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต เรียนรู้ที่จะประยุกต์ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำ และสุดท้ายเรียนรู้ที่จะค้นหาคุณธรรม วิชาที่สอนจึงควรมีลักษณะเป็นวิชาเฉพาะน้อยลง แต่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ(interdisciplinary)มากขึ้น

นอกจากนั้น สังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่ความรู้ สังคมสารสนเทศ และสังคมการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะช่วยให้การสอนทันกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

3. การให้บริการทางวิชาการ

การให้บริการทางวิชาการ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาในระบบกับการศึกษานอกระบบ เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบได้มีโอกาสเรียนและทำงานไปพร้อมๆกัน ในลักษณะของการศึกษาตลอดชีวิต

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังให้บริการทางวิชาการในรูปของการทำงานร่วมกัน กับการอุสาหกรรมและธุรกิจ โดยการสร้างหลักสูตรที่มีบูรณาการระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เห็นว่า หน้าที่การสอนและการวิจัยเป็นหน้าที่ทางสติปัญญาของมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับการสร้างลักษณะนิสัย ภาวะจิตใจ ตลอดจนการถ่ายทอดความติด ส่วนการบริการทางวิชาการเป็นหน้าที่ทางสังคม เป็นการเชื่อมโยงหน้าที่ทางสติปัญญาให้เข้ากับการพัฒนาสังคม

อย่างไรก็ตาม นอกจากหน้าที่หลัก 3 ประการของมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว ในแต่ละประเทศ อาจกำหนดหน้าที่ พันธกิจของมหาวิทยาลัย แตกต่างกันออกไปตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ด้วยการกำหนดหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นจุดเน้นของสถาบันหรือระบบการศึกษาของประเทศนั้น อย่างกรณีของไทย มหาวิทยาลัยมักจะเพิ่มหน้าที่ทางศิลปวัฒนธรรมเข้าไปอีกข้อหนึ่ง ความจริงเป็นหน้าที่ที่ไม่แตกต่างจากหน้าที่หลัก 3 ประการดังกล่าวแล้วมากนัก เพียงแต่เพิ่มเติมเพื่อเน้นความชัดเจนในบทบาทมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

อาจารย์มหาวิยาลัยมีหน้าที่วิจัย สอน สังเคราะห์ และประยุกต์ความรู้ในลักษณะที่สมดุล เพื่อความสมบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา

                                                                                      มูลนิธิคาร์เนกี

*********************************************************************************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น