วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ภาษากาย:ภาษาที่จำเป็นสำหรับนักพูด

นักจิตวิทยาชื่อ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน (Albert Mehrabian) ได้ทำการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ.2514 ถึงความจำเป็นสำหรับการสื่อสารในการใช้ภาษากาย(Body Language) พบว่า ผู้ฟังได้ให้น้ำหนักการพูดที่ทำให้เกิดอารมณ์จากการแสดงสีหน้าและการเคลื่อนไหวกายของผู้พูด หรือ ที่เรียกว่า ภาษากาย ถึงร้อยละ 55 ของพลังคำพูดที่ทำให้เกิดแรงจูงใจ อันแสดงให้เห็นว่า ความมีประสิทธิภาพของการพูดขึ้นอยู่กับสิ่งที่มองเห็นมากกว่าภาษาที่ใช้ และสิ่งที่สำคัญรองไปจากภาษากาย ไม่ใช่คำพูดแต่เป็นคุณภาพของเสียงซึ่งได้แก่ น้ำเสียง ระดับเสียง และจังหวะการพูด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38

จากการศึกษาของ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน จะเห็นว่าประสิทธิผลของการพูดขึ้นอยู่กับวิธีนำเสนอถึงร้อยละ 93 ซึ่งได้แก่ ภาษากาย คุณภาพของเสียง ส่วนความหมายของคำพูด ทำให้เกิดประสิทธิผลได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้นเอง

ผลการศึกษาของ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ พูดกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งการพูดโอกาสต่างๆ เหล่านี้ จะปฏิเสธเรื่องภาษากายและคุณภาพของเสียงไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหว การแสดงออก และน้ำเสียง มีความสำคัญมากกว่าคำพุดที่ใช้

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถสรุปได้ว่า การสื่อสารโดยใช้ภาษากาย มีความจำเป็นต่อประสิทธิผลของการพูดมากกว่าเนื้อหาที่พูด 

สำหรับภาษากาย ที่จำเป็นสำหรับนักพูดมีกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. สร้างความประทับใจในการปรากฎตัวครั้งแรก ในการพูดทุกครั้ง ความประทับใจครั้งแรกมีความสำคัญ เพราะถ้าเริ่มพูดด้วยการที่ผู้พูดสามารถสร้างความประทับใจได้สำเร็จ การพูดจะดำเนินไปได้ด้วยดี

2. เดินอย่างสง่า ภาษากายจะเริ่มทำงานก่อนที่บุคคลจะพูดออกมา ฉะนั้น เมื่อเราเดินไปเพื่อจะพูดกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด จะต้องเดินอย่าสง่าแม้ตัวจะเตี้ยก็ตาม อย่าเดินแบบย่อตัว หลังโค้ง หรือทำตัวงอ

3.เริ่มต้นการพูดอย่างมีความมุ่งหมาย การเริ่มพุดอย่างมีความมุ่งหมายสามารถทำได้ด้งนี้

          3.1 ทุกครั้งที่จะมีการพูด จะต้องเตรียมความมุ่งหมายและจุดหมายของการพูดให้พร้อม

          3.2 ระลึกเสมอว่าข่าวสารแรกที่ส่งไปคือภาษากาย ซึ่งในการพูดจะต้องเตรียมพร้อมเรื่องนี้เป็นพิเศษ

4. ยิ้ม การเดินอย่างสง่าจะต้องมีรอยยิ้มปรากฎให้เห็น เพราะการเข้าไปหาบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยปราศจากรอยยิ้ม จะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่าพอที่จะติดต่อด้วย คนที่หน้าบึ้งย่อ่มจะประสบความสำเร็จในการสื่อสารได้ยาก อย่างไรก็ตาม การยิ้มจะต้องยิ้มอย่างจริงใจ เป็นธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้ได้รับการตอบสนองอย่างจริงใจและเป็นธรรมชาติเช่นกัน

5 สบตา ทันทีที่พบบุคคลที่ต้องการพบ หรือต้องการที่จะสื่อสารด้วย จะต้องสบตากับบุคคลผู้นั้น การสบตาหมายถึงความเปิดเผยและซื่อสัตย์ นอกจากนั้น การสบตายังเป็นการถ่ายทอดพลังงานและจุดประกายความรู้สึก ฉะนั้น จงสบตาทันทีก่อนที่จะพูดคำแรกออกมา

6.จับมือ การจับมือเป็นการสื่อความรู้สึกต่อกัน การสัมผัสมือที่ดีจะต้องให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นมีพลัง ไม่ใช่จับมือแบบจืดชืดเย็นชา การจับมือจะต้องถ่ายทอดความรู้สึกไปยังบุคคลที่จับมือด้วย ว่าเรามีความจริงใจ เปิดเผย และมีความต้องการที่จะสื่อสารด้วย และในขณะที่จับมือจะต้องสบตากับบุคคลที่เราจับมือด้วย

7. คิดก่อนที่จะนั่ง เมื่อเข้าไปในที่ชุมนุมหรือห้องประชุม อย่ารีบนั่ง การรีบนั่งแสดงถึงว่ามีความกระวนกระวาย และที่สำคัญ ถ้าบุคคลในห้องประชุมนั่งอยู่ การยืนชั่วครู่ทำให้มองเห็นสถานการณ์ได้ทั่วถึง นอกจากนั้น ในการยืนขณะที่คนอื่นนั่ง แสดงถึงความีอำนาจ แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นๆก็ตาม และก่อนจะนั่งลงควรคิด ถ้าสามารถเลือกที่นั่งได้ควรเลือกนั่งเก้าอี้ไม้มากกว่าเก้าอี้นวมหรือเก้าอี้ที่นุ่มๆ การนั่งเก้าอี้ไม้ทำให้สามารถนั่งตัวตรง ลำตัวตั้งตรง ไม่ใช่เก้าอี้ที่นั่งแล้วตัวเราจมไปเกือบทั้งตัว ถ้าจำเป็นต้องนั่งที่โต๊ะ ถ้าหากไม่ใช่ประธานในที่ประชุมก็ไม่ควรนั่งหัวโต๊ะ เพราะหัวโต๊ะทั้ง 2 เป็นตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงถ้าสามารถทำได้

8. ถ่ายทอดพลังความผ่อนคลาย พลังงานเป็นคุณภาพเชิงบวก ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายทอดด้วยการใช้ภาษากาย และไม่มีใครประสงค์ที่จะถ่ายทอดพลังของความกระวนกระวายหรืออาการทางประสาท พลังที่ควรถ่ายทอด คือพลังของความผ่อนคลายรวมกับความกระตือรือร้นและความเชื่อมั่น  ซึ่งความผ่อนคลายจะต้องเริ่มด้วยการหายใจลึกๆ แต่เมื่อใดที่ผิดหวัง หวั่นใจ การหายใจจะตื้น สั้น และหายใจเร็ว ซึ่งคนอื่นสามารถมองเห็นได้ การฝึกหายใจช้าๆลึกๆแม้ในขณะที่ตื่นเต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะสามารถควบคุมอาการตื่นเต้นแล้ว ยังจะช่วยให้ความตื่นเต้นลดลงด้วย

9. ใช้ศีรษะและหน้า ไม่มีภาษากายใดที่สื่อความหมายได้ดีกว่าศีรษะและหน้า จึงต้องรู้จักใช้ศีรษะและหน้าให้เป็น เช่น การเอียงศีรษะไปทางหนึ่งทางใดแสดงว่าตั้งใจฟัง พยักหน้าแสดงว่าเห็นด้วย การส่ายหน้าแสดงว่าไม่เห็นด้วย เหล่านี้เป็นต้น

10 ใช้มือ ถัดจากศีรษะและหน้า มือมีความสำคัญต่อภาษากายรองลงมา  เพราะการใช้มือนอกจากจะช่วยลดความวิตกกังวลแล้ว การใช้มือยังช่วยให้เข้าใจความหมายในสิ่งที่พูดดีขึ้น ตัวอย่างการใช้มือ เช่น การถูมือด้วยกันสื่อถึงความคาดหวังในเชิงบวก เป็นต้น

11. ยึดกฎเบื้องต้น เมื่อพุดในที่สาธารณะภาษากายเบื้องต้นที่ควรใช้ในการสื่อสารประจำวัน สามารถนำไปใช้ในการพูดในที่สาธาณะได้ ซึ่งได้แก่ สบตาผู้ฟัง  ยิ้มให้บ่อยเท่าที่ทำได้ ใช้มือให้เป็น และยืนที่แท่นพูดอย่างมั่นคง ตัวตรง และอยู่ในท่าสบายๆ

12 สื่อสารด้วยเสื้อผ้า การแต่งกายเป็นการสื่อสารที่เป็นภาษากายอย่างหนึ่ง จึงต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับบริบท เพราะการแต่งตัวแบบหนึ่งอาจจะเหมาะสมในบริบทหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับบริบทอื่นๆ

13 เรียนรู้การใช้เสียง การใช้เสียงต่ำโน้มน้าวใจได้ดีกว่าเสียงสูงๆ ฉะนั้น ถ้ามีระดับเสียงสูงจะต้องฝึกการใช้เสียงต่ำจนกว่าจะใช้ได้สะดวก นอกจากนั้น ในการใช้เสียงเพื่อสื่อความหมาย จะต้องเป็นเสียงที่ดังเพียงพอ และไม่ควรพูดเร็ว คือไม่เกิน 150 คำต่อวินาที

อนึ่ง ภาษากายต่อไปนี้ เป็นภาษากายที่ไม่ควรใช้เพื่อการสื่อสาร ซึ่งได้แก่ เดินมือล้วงกระเป๋า เดินโดยเอามือกอดอก เดินโดยการก้มหัวลง การหลบตา ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด กัดริมฝีปาก การสั่นศีรษะแสดงการปฏิเสธ ทำมือในลักษณะผลัก และ การนั่งโดยการเอามือกุมศีรษะ

ภาษากายที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นภาษากายที่จำเป็นสำหรับการพูดที่มีประสิทธิผล หากผู้พูดนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกล่าวสุนทรพจน์ พูดกับบุคคล กลุ่มบุคคล พูดในที่ประชุม หรือพูดในที่สาธารณะ  จะทำให้การพูดแต่ละครั้งประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายอย่างแน่นนอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                  สาระคำ

ภาษากาย หมายถึง การสื่อสารโดยไม่ใช้ถ้อยคำ ทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้กันโดยใช้อากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง สายตา หรือวัตถุ ที่สามารถแปลความหมาย และทำความเข้าใจต่อกันได้
*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น