วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารีกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

โจเซฟ ลุฟท์ (๋Joseph Luft) และ แฮรี่ อิงแฮม(Harry Ingham) ทั้งสองคนเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้คิดทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี (The Johari Window Theory) ขึ้นในปี พ.ศ.2498 เป็นทฤษฎีที่มุ่งอธิบายถึงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ด้วยการเข้าถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

ที่ใช้ชื่อว่า Johari Window เพราะตัวแบบที่ใช้มีลักษณ์คล้ายกับบานหน้าต่าง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า window ส่วน Johari มาจากคำว่าJoseph และ Harry ซีัึ่งเป็นชื่อต้นของเจ้าของทฤษฎี ซึ่งฟังแล้วสอดคล้องกว่าการใช้ Joe-Harry

ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี แบ่งหน้าต่างออกเป็น 4 ส่วน คือ ตนที่เปิดเผย ตนที่บอด ตนที่ซ่อนเร้น และตนที่ไม่รู้ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ พฤติกรรม เจตคติ ความรู้สึก ความปรารถณา การจูงใจ แนวความคิด และอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีทั้ง 4 ส่วน  คือมีทั้งส่วนที่เปิดเผย ที่บอด ที่ซ่อนเร้น และที่ตนไม่รู้  และในแต่ละบุคคลส่วนทั้งสี่ไม่จำเป็นจะต้องเท่ากัน

1. ตนที่เปิดเผย(The Open Self)  เป็นตนที่ตัวเองรู้และคนอื่นรู้ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ตนเปิดเผย ซึ่งแต่ละบุคคลจะเปิดเผยตนโดยผันแปรไปตามเวลาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง บางเวลาอาจจะเปิดเผยตนมากกว่าอีกเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเปิดเผยตนแล้วได้รับความเจ็บปวด บุคคลจะปิดมากกว่าปกติ ในทำนองเดียวกัน ถ้าตนมีความรู้สึกสบายและได้รับการยอมรับ จะมีการเปิดเผยตนมากขึ้น ขนาดของตนที่เปิดเผยจะมีความสัมพันธ์กับความใกล้ชิดของบุคคล และความแตกต่างระหว่างบุคคล อย่างไรก็ดี คนส่วนมากจะเปิดเผยตนกับบางคน ในบางเรื่อง และ บางโอกาสเท่านั้น

2. ตนที่บอด(The Blind Self)  เป็นตนที่ตัวเองไม่รู้แต่คนอื่นรู้ คนบางคนมีตนที่บอดนี้ใหญ่จนไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง และบางครั้งคิดว่าเป็นความดีด้วยซำ้ไป วิธีเดียวที่จะลดขนาดของตนที่บอดก็ด้วยการแสวงหาข้อมูลในส่วนที่คนอื่นมี แต่เราไม่มี แม้ว่าขนาดของส่วนที่บอดจะลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่า ตนจะเห็นในส่วนนี้ เท่าๆกับคนอื่น การบังคับให้ตนและบุคคลอื่นรู้เท่าๆกัน จะทำให้เกิดความเจ็บปวด เพราะเกิดการลงโทษตัวเอง เกิดความอิจฉาริษยา และตั้งข้อรังเกียจ หากไม่มีความพร้อมทางจิตใจ

3. ตนที่ซ่อนเร้น (The Hidden Self) เป็นตนที่ตัวเองรู้แต่คนอื่นไม่รู้ เป็นส่วนที่ตนเก็บไว้เป็นความลับ สุดโด่งของตนที่ซ่อนเร้น คือปิดมากเกินไป จะไม่บอกอะไรเลย คือ มีความรู้เกี่ยวกับตนมาก แต่ปฏิเสธที่จะพูดออกมาให้คนอื่นรู้

4.ตนที่ไม่รู้(The unknown Self) เป็นส่วนที่ตนเองและคนอื่นไม่รู้ คือไม่รู้ว่ามีลักษณะนั้นๆอยู่ในตน เป็นลักษณะที่ปรากฎอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะเป็นความคิด ความเชื่อฯลฯ แต่สามารถรู้ได้จากการใช้ยา การสะกดจิต การทด และการฝัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนของตนทั้ง 4 ส่วน ของแต่ละคน อาจจะไม่เท่ากันก็ได้ บางคนอาจมีส่วนที่ไม่รู้กว้าง แต่บางคนอาจจะมีส่วนที่ซ่อนเร้นกว้าง ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เข้ากับคนอื่นได้ดีเพียงไร เช่น ถ้าเป็นบุคคลที่มีส่วนที่ตนไม่รู้กว้าง แสดงว่าถึงการเป็นคนที่ไม่เข้าใจตนเอง และคนอื่นก็ไม่สามารถให้ข้อมูลป้อนกลับได้ หรือถ้ามีส่วนที่เปิดเผยตนกว้าง แสดงว่าเป็นคนที่รู้จักตนเองและเป็นที่รู้จักของคนอื่น ทำให้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดี

ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือการสื่อสาร การจะมีประสิทธิภาพหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการเปิดเผยตน  ถ้าเราไม่อนุญาตให้ผู้อื่นรู้จักเรา การสื่อสารจะเป็นไปด้วยความยากที่สุด ในทางตรงกันข้ามการสื่อสารจะเต็มไปด้วยความหมาย ถ้าบุคคลทั้งสองรู้จักการเปิดเผยตนซึ่งกันและกัน 

ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงการสื่อสาร หรือการสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น บุคคลจะต้องเริ่มด้วยการเปิดเผยตนของตน

การเปิดเผยตน หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่ซ่อนเร้นไปยังส่วนที่เปิดเผย เป็นการส่งข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตนเองไปยังผู้อื่น เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่มีความหมายบางอย่างที่ผู้รับไม่รับรู้มาก่อน เป็นความรู้ใหม่ ทำให้ผู้รับเกิดความเข้าใจ

การเปิดเผยตนกับคนอื่น ทำให้เราได้ภาพใหม่เกี่ยวกับตัวเรา และมีความเข้าใจพฤติกรรมของตนได้ลึกซึ้งกว่าเดิม มีประโยชน์ในการปรับปรุงการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการรู้จักผู้อื่น นั่นคือ ถ้าปราศจากการเปิดเผยตน ความสัมพันธ์ที่มีความหมายจะเกิดขึ้นไม่ได้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

ตน(self) หมายถึง ความรู้ ความรู้สึก แล ะแนวความคิด เกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล

ปัจเจกบุคคล หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล บุคคลแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น