วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

อำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย

ความเป็นอิสระ(autonomy) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อบทบาทการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ ความเป็นอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ และความอิสระทางการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม ความมีอิสระดังกล่าวนี้จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้น การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศ  มีผลทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะว่างงานของผู้มีการศึกษา

การทำงานของมหาวิทยาลัย นอกจากจะต้องทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม จะต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังจะต้องมีความโปร่งใส สามารถเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)

ด้วยเหตุนี้ การบริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย คำถามจึงมีว่า ใครควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบจะมีความแตกต่างกันไป

คำตอบหนึ่งมีว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์(interest) ส่วนอีกคำตอบหนึ่งเห็นว่า ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารควรเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุน(contribution)มหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อรวมคำตอบทั้งสองเข้าด้วยกัน จะได้ว่า ผู้ควรมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย ควรประกอบด้วย "ผู้ได้รับผลประโยชน์" และ "ผู้ให้การสนับสนุน"มหาวิทยาลัยนั่นเอง

เบอร์ตัน คลาร์ค (Burton Clark) และ เทด โยน(Ted Youn) ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับว่า ใครควรมีอำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย และได้ผลสรุปว่า  โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการหรือผู้บริหารสถาบันมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลมีอำนาจบริหารเท่ากับคณะวิชาหรือคณาจารย์ ส่วนในสหราชอนาจักร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด

แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 อำนาจการบริหารได้เปลี่ยนไป การบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหรือผู้บริหาร คณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง แต่โดยภาพรวมแล้วคณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจมากที่สุด ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ คณะกรรมการหรือผู้บริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ส่วนรัฐบาลและคณะวิชาหรือคณ่จารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจมากที่สุด ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหราชอณาจักร รัฐบาลและคณะกรรมการมีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยคณะวิชาหรือคณาจารย์มีอำนาจลดลง โดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลมีอำนาจมากที่สุด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การบริหารมหาวิทยาลัยในยุโรปแผ่นดินใหญ่ ได้ลดอำนาจของรัฐบาลลง ในสัดส่วนค่อนข้างมาก แต่ในสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มอำนาจรัฐบาลในสัดส่วนที่มาก ในขณะที่ลดอำนาจคณะวิชาหรือคณาจารย์ลงมากเช่นกัน ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่มากนัก ส่วนอำนาจของคณะวิชาหรือคณาจารย์มีน้อยที่สุดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงระยเวลาในการใช้อำนาจเพื่อการบริหารมหาวิทยาลัย อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะแรก มหาวิทยาลัยมีขนาดเล็ก โครงสร้างและทรัพยากรไม่ซับซ้อน อาจารย์ทำหน้าที่สอนและอยู่ในระบบโดยยึดจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

ระยะที่สอง มหาวิทยาลัยมีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหาร

ส่วนระยะที่สาม เป็นสถานการณ์บริหารในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ 2 รูปแบบย่อย คือ

          1) รูปแบบที่มุ่งตลาด เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะมีอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล อำนาจการบริหารและความรับผิดชอบอยู่ที่มหาวิทยาลัยและผู้นำของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีอำนาจมากที่สุด

          2) รูปแบบที่อำนาจและความรับผิดชอบในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆอยู่ที่รัฐบาลและคณกรรมการของมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย มากกว่าผู้บริหารหรือผู้นำของมหาวิทยาลัย

อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบแรกเป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ส่วนรูปแบบหลัง เป็นรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ

นั่นคือ ในการบริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารหรือสภามหาวิทยาลัยควรประกอบด้วย ผู้ได้รับประโยชน์ และผู้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยจะมีอิสระได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ระยะเวลา ขนาด และ สถานการณ์  แต่ความมีอิสระจะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล และที่สำคัญกว่าการมีอิสระในการบริหาร ก็คือการดำเนินงานมหาวิทยาลัยจะต้องผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็จะเป็นเครื่องมือการพัฒนาที่ไม่มีประโยชน์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                           ความเป็นอิสระ หากใช้อย่างไม่มีขอบเขต จะนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ                   

*********************************************************************************



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น