วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย

หลักใหญ่ๆที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารมหาวิทยาลัย ก็เพื่อการประกันคุณภาพ การตรวจสอบ และการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเพื่อความแน่ใจว่าการศึกษาอบรมกำลังคนที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ ได้สนองตอบความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่อย่างไร

โดยรัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องงบประมาณ  การรับนักศึกษาเข้าเรียน ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพ คุณภาพ และการยอมรับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย

การเข้าไปมีบทบาทของรัฐบาลในระบบอุดมศึกษานั้น จะต้องเพื่อการส่งเสริมความมีอิสระด้วย อันได้แก่ ความอิสระขององค์การ ความอิสระทางวิชาการ ความอิสระทางการเงิน เป็นต้น นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้นวัตกรรม อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นโดยรวม

ฉะนั้น ตัวแบบของมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม ในการที่จะส่งเสริมให้มีลักษณะดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนา คือ ตัวแบบที่รัฐกำกับดูแล(the state supervising model) อันเป็นตัวแบบที่มห่วิทยาลัยมีความอิสระ แต่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

เป็นตัวแบบที่มหาวิทยาลัยมีอิสระพอที่จะกำหนดเป้าหมายและโปรแกรมวิชาของตน มีอิสระพอที่จะตัดสินใจว่า อะไรควรสอน อะไรควรวิจัย และควรสอนและวิจัยอย่างไร โดยปราศจากการกดดันของรัฐบาล

เพราะความอิสระโดยปราศจากการเข้าไปตรวจสอบ จะทำให้มหาวิทยาลัยแยกตัวออกไปจากภาคการผลิตและความต้องการของสังคม ไม่สามารถสนองตอบสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานได้

การกำกับดูแลของรัฐบาล จะต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสิ่งใหม่ๆมาใช้ในระบบ ตลอดจนทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของรัฐบาลกับความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย

ในประเทศกำลังพัฒนา การกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการที่มหาวิทยาลัยใช้เงินอุดหนุุนของรัฐบาลที่มีอยู่จำกัด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ปัญหาจากการใช้กฎเกณฑ์กับมหาวิทยาลัย จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัด มากกว่าที่จะใช้เพื่อเพื่อการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยเกิดความยืดหยุ่นและมีทางเลือก ซึ่งลักษณะการใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัดกับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการรักษาสภาพเดิมๆไว้ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

กล่าวโดยสรุปก็คือ มหาวัทยาลัยภายใต้กำกับของรัฐบาลนั้น หมายถึง การที่รัฐบาลสามารถเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับเป้าหมาย เนื้อหา มาตรฐานการสอนและการวิจัย รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบถึงประสิทธิผลและค่าใช้จ่าย ว่านำไปสู่ผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งท้าทายที่เผชิญหน้ามหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา คือการทบทวนความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัย โดยรัฐบาลเพียงแต่กำนดกฎเกณฑ์ทั่วไป ไม่ลงในรายละเอียด เพื่อสถาบันจะได้ใช้ความอิสระให้เกิดประโยขน์ในการผลิตกำลังคน ตามความต้องการของตลาดแรงงาน และมหาวิทยาลัยเองควรพยายามเพิ่มความสามารถในการใช้นวัตกรรมให้มากที่สุด ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดโดยรัฐบาล      

นั่นคือ ความมีอิสระของมหาวิทยาลัย  เป็นความอิสระที่จะต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล มิฉะนั้นแล้ว การดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะโดดเดี่ยว ไม่ผูกพันกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ทำให้ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคน ผลที่สุด มหาวิทยาลัยก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยเป็นลักษณะที่รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม เพื่อความอิสระของมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการเข้าไปตรวจสอบ  และปรับปรุงการบริหารจัดการแบบกึ่งเอกชน(quasi private)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                               สาระคิด

                                 การศึกษาในโลกมีลักษณะเป็นหมาหางด้วน

                                 คือ สอนแต่หนังสือและอาชีพ ไม่สอนการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง

                                                                                                        พุทธทาส ภิกขุ

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น