วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นเรื่องคุณภาพมหาวิทยาลัย ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ผู้ร่วมอภิปรายมีทั้งบรรดารัฐมนตรี ข้าราชการ นายจ้าง และคนในวงการธุรกิจ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้เพิ่มความสนใจเกี่ยวกับผลผลิตของมหาวิทยาลัย ว่าสังคมได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่

ความสนใจอยู่ที่ว่า จะรักษาและปรับปรุงระดับการเรียนรู้และการสอนในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้นได้อย่างไร แสวงหาวิธีการให้ผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร มีวิธีการจูงใจหรือหลักประกันอะไรว่ามหาวิทยาลัยจะทำงานเต็มสมรรถนะเพื่อการประกันคุณภาพของผู้จบการศึกษาหรือไม่

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนนักศึกษา ตลอดจนขนาดและความหลากหลายของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องคุณภาพได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลและวงการอุตสาหกรรม เชื่อว่ามหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผลิตและการบริการ ซึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทสำคัญดังกล่าวได้ตือ คุณภาพ ความสอดคล้อง และความยืดหยุ่น

ในประเทศออสเตรเลีย นักการเมืองและนักอุตสาหกรรม ย้ำว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยจะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถแข่งกับนานาชาติได้ การพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญปัญหาหนึงของออสเตรเลีย

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ตกอยู่ท่ามกลางความวิกฤติ คุณภาพการสอนและการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานของนานาชาติมาก กิจกรรมการวิจัยได้รับทุนอุดหนุนน้อย และมีคำถามเรื่องความถูกผิดอยู่เสมอ

สิ่งที่ปรากฎให้เห็นในมหาวิทยาลัยของประเทศกำลังพัฒนา คือการมีนักศึกษามากเกินไป อาจารย์ไม่พอ สิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพเสื่อมสภาพลง ทรัพยากรในห้องสมุดคุณภาพต่ำ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์มีไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพภายในต่ำ บัณฑิตไม่มีงานทำ ผลิตบัณฑิตที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้น้อย

ซึ่งสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีสาเหตุมาจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ

ประเด็นทรัพยากรมีไม่เพียงพอ เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างมากที่สุด ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม

2. อาจารย์ 

ปัญหาอาจารย์เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในหลายประเทศ ซึ่งได้แก่ปัญหาขาดแคลนอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ที่มีคุณภาพ อันมีผลทำให้สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เป็นที่น่าพอใจ

บางประเทศมีปัญหาเรื่องสมองไหลจากมหาวิทยาลัยไปสู่เอกชน ซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่า มีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนระบบคุณธรรม และที่เหนือกว่านั้น คือการที่อาจารย์ไปทำงานในต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยในทวีปแอฟริกาบางประเทศ อาจารย์ยังคงทำงานอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ค้าขายหรือทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้เพิ่ม อาจารย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่พยายามปรับปรุงคุณภาพการสอนให้ดีขึ้น หรือทำให้นักศึกษามีความรู้ที่ทันสมัยขึ้น เกิดภาวะสมองรั่วซึม(brain leakage)

นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์อีกจำนวนหนึ่ง อุทิศเวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการทำงานกับพรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่ยังดำรงตำแหน่งอาจารย์อยู่

พฤติกรรมของอาจารย์ที่กล่าวมานี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นพฤติกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนาแทบจะทุกประเทศก็ว่าได้

3. การสอน

มหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากจะมีวิธีสอนและหลักสูตรที่ล้าสมัยแล้ว วิชาต่างๆยังไม่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพัฒนาอีกด้วย ขาดตำราเรียนและสื่อการเรียนอย่างรุนแรง และที่สำคัญคือ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการสอน

พฤติกรรมการสอนในห้องเรียนมีลักษณะอำนาจนิยม ทำให้นักศึกษาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ วิธีสอนส่วนใหญ่ เป็นการให้นักศึกษาอ่านแผ่นปลิวที่เตรียมไว้เพื่อการบรรยาย เป็นแผ่นปลิวที่มีการถ่ายสำเนาเพื่อขายนักศึกษา 

การสอบ ปกติจะใช้แบบตัวเลือกหลายตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาระในการตรวจให้คะแนน โดยข้อสอบจะมาจากเนื้อหาในแผ่นปลิวที่ขายนักศึกษานั่นเอง จึงไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้นที่อ่านหนังสืออื่นน้อย อาจารย์เองก็แทบจะไม่ได้อ่านหนังสืออื่น นอกเหนือจากตำราที่ใช้เตรียมการสอนไม่เกิน 2-3 เล่ม

4. ประสิทธิภาพภายในต่ำ

ในระบบมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะก้าวหน้าไปอย่างช้าๆและมีอัตราการก้าวหน้าต่ำ ขาดความสมดุลระหว่างบัณฑิตที่จบการศึกษากับระบบต่างๆที่ขยายการรับนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนามากนัก ซึ่งได้แก่ สาขาวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งในการผลิตบัณฑิตสาขาเหล่านี้ได้ใช้งบประมาณซึ่งควรจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยี จนทำให้เกิดปัญหาว่างงานของผู้จบการศึกษา และในบางประเทศนักศึกษาจะต้องใช้เวลา 7-8 ปี หรือมากกว่านั้น เพื่อเรียนให้จบหลักสูตรที่สามารถเรียนได้จบในเวลา 4-5 ปี แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม

5. การนิเทศในมหาวิทยาลัยเอกชนมีน้อยและขาดประสิทธิผล

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมมือเพื่อจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนน้อย

เกี่ยวกับสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยในประเทศกำลังพัฒนา ธนาคารโลกได้เชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสของมหาวิทยาลัยจากประเทศกำลังพัฒนา 22 ประเทศ ตัวแทนองค์การนานาชาติ และสมาคมมหาวิทยาลัยต่างๆมาประชุมสัมมนา และได้ข้อสรุปว่า วิกฤตการณ์ของมหาวิทยาลัยอันดับแรก คือ วิกฤตการณ์ของคุณภาพ อันเกิดจากข้อจำกัดทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสมรรถนะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิจัยประยุกต์ไม่สอดคล้องกับปัญหาการพัฒนา การจะสร้างคุณภาพขึ้นมาจะต้องแก้ปัญหาการคัดเลือก ปรับโครงสร้างของสถาบันให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย ในขณะเดียวกันจะต้องสร้างวัฒนธรรมการประเมินขึ้นมาในมหาวิทยาลัย

ในส่วนของธนาคารโลกเองก็ได้เสนอแนวทาง เพื่อช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ ซึ่งได้แก่ การเลือกระหว่างการสอบคัดเลือกกับคุณภาพ ความมีอิสระกับการเข้าไปตรวจสอบได้ ความยุติธรรมกับประสิทธิภาพ ทุนอุดหนุนจากรัฐกับเอกชน และการวิจัยพื้นฐานกับการวิจัยประยุกต์ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจำเป็นจะต้องเลือก เพราะมิฉะนั้นจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ เป็นทรัพยากรที่มีค่าน้อย

ฉะนั้น ไทยในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จะพบว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยของไทยไม่ค่อยแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆมากนัก   อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ฉะนั้น ถ้านำผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะของธนาคารโลกไปปรับใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าสภาพและปัญหาคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                     สาระคิด

คุณภาพของมหาวิทยาลัย ไม่เหมือนกับการทำให้ลูกค้าพอใจแบบเดียวกับพอใจรถยนต์รุ่นล่าสุด คุณภาพของมหาวิทยาลัยจะต้องรวมเอาความหมายของคำว่า ความมีประสิทธิผล(effectiveness) ความมีประสิทธิภาพ(efficiency) และความสามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้(accountability)เข้าไว้ด้วย

                                                                                 Malcolm Frazer
                                                               
*********************************************************************************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น