วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย(1)

ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ได้ทำการวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก" พบว่า สภาพและปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย มีดังนี้

1. สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุด มีบทบาทในการพัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย แต่พบว่าสภามหาวิทยาลัยมีปัญหาดังนี้

          1.1 องค์ประกอบของกรรมการสภาในบางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดปัญหาการครอบงำทางความคิดจากบุคคลภายในมหาวิทยาลัย

          1.2 สภามหาวิทยาลัยเลือกบุคคลภายนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงจำกัด โดยเลือกเฉพาะบุคคลที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง

          1.3. การประชุมสภาใช้เวลาส่วนใหญ่พิจารณาแต่เรื่องภายในมหาวิทยาลัย โดยไม่ใช้เวลาพูดถึงนโยบายหรือแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัย

          1.4. สภาไม่ใช้อำนาจออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย

2. หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีการกำหนด หน้าที่ นโยบาย และเป้าหมายที่ชัดเจน มีผลทำให้

          2.1. การเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยไร้ทิศทาง

          2.2. การใช้ทรัพยากรมีความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง

3. การแบ่งส่วนราชการและโครงสร้างการบริหาร โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยถอดแบบมาจากตะวันตก คือ แบ่งเป็นภาควิชา คณะ สถาบัน เป็นต้น พบว่ามีการแบ่งภาควิชาและคณะมากเกินจำเป็น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยากที่จะประสานความร่วมมือ ประสานวิชา และประสานหลักสูตร

4. ผู้บริหาร ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยแทบจะทุกระดับและเกือบทั้งหมด ไม่ได้เรียนรู้ด้านบริหาร การบริหารในมหาวิทยาลัยจึงใช้ประสบการณ์เป็นหลัก ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับผู้บริหารมีดังนี้

           4.1. สภาไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการสรรหาให้ได้คนดีมีฝีมือเข้ามาบริหาร

          4.2. การสรรหาที่ใช้ระบบเลือกตั้งเป็นหลัก สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความแตกแยก ขาดความร่วมมือในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้า

          4.3. ผู้บริหารที่ไม่มีระบบ มักจะถูกชักนำจากข้าราชการชั้นผู้น้อย

          4.4. ผู้บริหารมักจะมีวาระการดำรงตำแหน่งสั้น เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง

5. หลักสูตร โดยทั่วไปหลักสูตรจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และค่อนข้างจะซ้ำซ้อน ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรมีดังนี้

          5.1. หลักสูตรขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่เลียนแบบซึ่งกันและกัน มีความคล้ายคลึงกัน

          5.2. หลักสูตรขาดความยืดหยุ่น ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างเสรีเพียงพอ

          5.3 หลักสูตรล้าสมัย

          5.4. หลักสูตรจำนวนมากลอกเลียนหรืออ้างอิงจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย

          5.5. หลักสูตรไม่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงบูรณาการ

          5.6. หลักสูตรนานาชาติมีน้อย ทำให้ไม่เป็นสากล

          5.7 อาจารย์ไม่เข้าใจการปรับหลักสูตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก

6. คุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์คือคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอาจารย์และการเรียนการสอนมีดังนี้

          6.1. อาจารย์ที่มีคุณภาพด้านการสอนและผลงานวิจัยมีจำนวนน้อยมาก

          6.2. ไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะขจัดอาจารย์ที่ไร้คุณภาพ ภายใต้ระบบราชการและสังคมวัฒนธรรมไทย

          6.3. ตำราอันเป็นสื่อการสอนหลักมีคุณภาพต่ำ

          6.4. การลงทุนเพื่อการวิจัยมีน้อย ทำให้องค์ความรู้ไทยมีน้อย

          6.5. ห้องสมุดไม่ทันสมัย

          6.6. วิธีสอนของอาจารย์ใช้แบบเดิมๆ คือถ่ายทอดความรู้

          6.7 วิกฤตศรัทธาต่ออาชีพอาจารย์ตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถจูงใจให้คนดีมาเป็นอาจารย์

          6.8 มาตรการกำหนดกำลังคนของภาครัฐ มีผลทำให้ขาดแคลนอาจารย์และบุคลากกรสนับสนุน
ทั้งด้านวิชาการและธุรการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          6.9 ขาดกลไกการพัฒนาคุณภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

7. การวิจัย รัฐลงทุนเพื่อการวิจัยต่ำ ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

8. ความขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในมหาวิทยาลัยของรัฐมีสาเหตุมาจาก

          8.1. ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะการขาดแคลนกำลังคน เริ่มปรากฎให้เห็นตั้งแต่แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 2 แล้ว

          8.2. การจำกัดอัตรากำลังของรัฐที่ใช้กับทุกหน่วยราชการ มีผลทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากร

          8.3 การบริหาจัดการไม่ดี ใช้กำลังคณาจารย์เกินความจำเป็น และไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งแต่งตั้งรองอธิการบดีถึง 15 คน และ พบว่าได้สูญเสียคณาจารย์เพื่อไปทำหน้าที่บริหารมากกว่าร้อยละ 30

งานศึกษาวิจัยเรื่อง "อุดมศึกษาไทย:วิกฤตและทางออก"นี้ เป็นงานวิจัยที่ได้มีการเผยแพร่ในปี พ.ศ.2540 แต่ไม่พบว่า ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยของไทยมากนัก ยกเว้นเรื่องอาคารสถานที่ และการขยายวิทยาเขต
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคิด

  อาจารย์มหาวิทยาลัย(ไทย)มีอยู่ 3 ประเภท คือมีความรู้และมีความรับผิดชอบ

  มีความรู้แต่ใช้ข้างนอกมหาวิทยาลัย และ ไม่มีความรู้

                                                                                                                   เกษม สุวรรณกุล

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น