วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง

การพัฒนาทางการเมือง โดยความหมายแล้วจะมุ่งเน้นที่การสร้างความสามารถของระบบการเมือง ในการที่จะสนองตอบความต้องการของประชาชน การพัฒนาทางการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองนั้นๆ มากกว่าที่จะระบุว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองระบบใดระบบหนึ่งโดยเฉพาะ

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาการทางการเมือง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะ วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นตัวกำหนดรูปแบบของพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคม

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง จะต้องเริ่มด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารในกรณีที่ระบบการศึกษาเดิมยังขาดประสิทธิภาพ

การจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทางการเมืองนั้น มีลักษณะดังนี้

1. เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา  

ในระดับประถมศึกษาควรสอนให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศชาติ รัฐบาล กฎหมาย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ในระดับมัธยมศึกษาควรมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น

ส่วนระดับอุดมศึกษาผู้เรียนจะต้องพร้อมทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง การเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาทางการเมืองทั้งสามระดับ จะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องและต่อเนื่อง

2. ปรัชญาการศึกษา 

ปรัชญาการศึกษาซึ่งเป็นตัวกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษา จะต้องระบุระบบหรือลัทธิการเมืองที่พึงประสงค์อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาอยู่ในกรอบเดียวกัน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานทางการเมืองในด้านความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนสร้างค่านิมทางการเมืองที่พึงประสงค์

3. จุดมุ่งหมายของการศึกษา 

การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทางการเมือง ควรมีจุดมุ่งหมายดังนี้

          3.1 ให้ผู้เรียนรู้จักหวงสิทธิของตน เพื่อให้เกิดความสำนึกในบทบาทของตน ในขณะเดียวกันจะไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

          3.2 ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม การเมืองเป็นสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล เพราะกลุ่มเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลัง การศึกษาจะต้องสร้างบุคคลให้เห็นความสำคัญของกลุ่ม ภักดีต่อกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อการต่อรองและรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตนและกลุ่ม

          3.3 ให้มีทัศนคติที่เป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมืองจะต้องสอนให้คนรู้จักคิด รู้จักคาดคะเน และสามารถทำนายเหตุการณ์ต่างๆล่วงหน้าได้ นทางการเมืองบุคคลจะต้องรู้เหตุรู้ผล มิฉะนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือของบุคคลอื่น

           3.4 มีความเป็นพลเมืองดี เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เอื้อต่อความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ เป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความจริงใจต่อตนเองและผู้อื่น

4. หลักสูตร 

หลักสูตรจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวิชาต่างๆให้ผู้เรียนได้รู้จักคุ้นเคยกับระบบการเมืองของประเทศ มีความผูกพันและเชื่อมั่นในรัฐบาลและระบบการเมือง พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี

หลักสูตรเพื่อการพัฒนาทางการเมือง ควรจะเกี่ยวข้องกับการการเรียนรู้ทางการเมืองใน 2 ลักษณะคือ การศึกษาเรื่องหน้าที่ของพลเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมือง และการอบรมลัทธิทางการเมือง เพื่อให้ผู้เรียนมีอุดมการณ์ทางการเมืองตามที่รัฐต้องการ

หลักสูตรในส่วนที่เกียวข้องกับการเมือง อาจจัดเป็นวิชาเฉพาะหรือแทรกอยู่ในเนื้อหาของรายวิชาอื่นๆ หรืออาจจัดทั้ง 2 อย่าง

5. ผู้สอน 

ในการพัฒนาทางการเมือง ผู้สอนมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นผู้มีอำนาจในห้องเรียน เป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับทางตรงนั้น ผู้สอนมีหน้าที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่พึงประสงค์ โดยใช้เทคนิคการสอนต่างๆ ส่วนทางอ้อมนั้นเกิดจากการที่ผู้เรียนได้รับอิทธิพลจากบุคลิกของผู้สอน

หากความสัมพันธ์ระหว่าผู้เสอนกับผู้เรียนเป็นแบบประชาธิปไตย ผู้เรียนก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นประชาธิปไตย และในทางตรงกันข้าม หากครูผู้สอนมีลักษณะเป็นเผด็จการ ผู้เรียนจะมีลักษณะอำนาจนิยมเกิดขึ้นในตัว

เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการเมือง ผู้สอนจึงควรเป็นผู้มีความรู้ทางการเมืองอย่างดีและถูกต้อง ในขณะเดียวกัน จะต้องมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมอีกด้วย

6. การเรียนการสอน 

การเรียนการสอน เป็นการนำเนื้อหาวิชาจากหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ โดยผู้เรียนผู้สอนมีกิจกรรมร่วมกัน
การเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาการเมืองนั้น จะต้องเป็นการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทฤษฎีและมีทักษะในการปฏิบัติควบคู่กันไป

ในขณะเดียวกันการเรียนการสอน จะต้องเสริมสร้างค่านิยมพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบการเมืองของประเทศ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน การอภิปราย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทางการเมือง มีกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสมกับวัยและเนื้อหาวิชา

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมือง เป็นการจัดการศึกษาที่ใช้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีลักษณะเอื้อต่อระบบการเมืองของประเทศ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เพียงแต่จะต้องมีความชัดเจนว่าระบบการเมืองของประเทศจะเป็นแบบใด ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนให้ไปทิศทางเดียวกัน ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาพลเมืองให้มีวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มีค่านิยม และพฤติกรรมที่ส่งเสริมระบบการเมืองของประเทศ

ในกรณีที่ระบบการเมืองของประเทศเป็นแบบประชาธิปไตย การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทางการเมืองจะต้องเริ่มอย่างจริงจัง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นกระบวนการศึกษาที่ชัดเจนทั้งในเรื่อง ปรัชญาการศึกษา จุดมุ่งหมายการศึกษา หลักสูตร ผู้สอน และการเรียนการสอน ที่จะพัฒนาพลเมืองของประเทศให้เป็นสมาชิกที่ดีในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                             สาระคิด

                                         เมื่อปราศจากธรรมะเสียแล้ว การเมืองก็เป็นเรื่องสกปรก

                                                            มุ่งแต่หาประโยชน์เพื่อตน หรือพรรคพวกภาคีของตนเท่านั้น

                                                                                                     พุทธทาสภิกขุ

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น