การวิจารณ์เป็นการประเมินคนอื่นในเชิงลบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่บางครั้งอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ขององค์การโดยรวม จึงจำเป็นจะต้องมีการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานบ้าง
อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์เพื่อนร่วมงาน จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยมีเทคนิคการวิจารณ์ ดังนี้
1. จะต้องแน่ใจว่า ในสถานการณ์นั้นจำเป็นจะต้องวิจารณ์อย่างแท้จริง หลีกเลี่ยงไม่ได้
2. จะต้องวิจารณ์ด้วยภาษาที่สุภาพนุ่มนวล ไม่วางอำนาจ หรือทำตนเหนือกว่าผู้ถูกวิจารณ์
3. เลือกเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม ไม่ใช่วิจารณ์ที่ไหน เวลาใดก็ได้
4. วิจารณ์อย่างมีข้อมูลและหลักฐาน ไม่ใช่วิจารณ์เพราะคิดเอาเองว่าผู้ถูกวิจารณ์ไม่ได้ทำหรือทำในสิ่งที่ถูกต้อง
5. ในการวิจารณ์จะต้องเสนอทางเลือกให้ผู้ถูกวิจารณ์ด้วยเสมอ
6. วิจารณ์ด้วยความเป็นมิตร
7. ถ้าเป็นไปได้ ใช้การยกย่องควบคู่ไปกับการวิจารณ์ โดบยกส่วนที่ดีที่ถูกต้องออกมาพูดด้วย
8. วิจารณ์เฉพาะสิ่งที่เขาสามารถปรับปรุง หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ การวิจารณ์ในสิ่งที่ผู้ถูกวิจารณ์แก้ไขไม่ได้ เป็นการสูญเปล่า
9. วิจารณ์ครั้งละ 1 ประเด็น การวิจารณ์หลายๆประเด็นในคราวเดียวกัน เป็นการตำหนิ มากกว่าการวิจารณ์ด้วยความเป็นมิตร
10. หลังการวิจารณ์ มีการให้ข้อมูลป้อนกลับในทางบวกด้วยเสมอ
การวิจารณ์เพื่อนร่วมงานในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์การแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เสื่อมถอย กลับทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ เพราะผู้ถูกวิจารณ์มองเห็นถึงเจตนาดีของผู้วิจารณ์นั่นเอง
-------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
เมื่อมีเมตตาต่อกัน ย่อมคิดจะเกื้อกูลกันให้มีความสุข
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
-----------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น