วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รัฐกับการจัดการศึกษา

นักเศรษฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะมองว่า การศึกษาเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ ฉะนั้น ความรับผิดชอบการศึกษาจึงเป็นทั้งของรัฐบาลและของผู้เรียน โดยรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ผู้พัฒนาและผู้ทำให้เกิดความเป็นธรรม ด้วยการดำเนินการจัดการศึกษาในลักษณะต่อไปนี้คือ 1) พัฒนาโครงสร้างของการบริการของรัฐและของสถาบันการศึกษา 2) สร้างความเป็นธรรมทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในการจัดการศึกษา จะมีสถานการณ์ 2 แบบ ที่เป็นปัญหาถกเถียงจนเกิดความเครียดและความขัดแย้งในสังคม ปัญหาดังกล่าวคือ

1. ความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ในระบบการศึกษาการจัดการศึกษาเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อความเท่าเทียมกันในโอกาสมักจะคู่กันเสมอ แต่ไม่ง่ายที่จะทำไปพร้อมๆกัน เพราะการเพิ่มจำนวนประชากร ความกดดันของผู้ปกครองและการเมือง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างความยุติธรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

2. ปริมาณและคุณภาพ ในการจัดการศึกษาจะมีความขัดแย้งเรื่องปริมาณและคุณภาพอยู่เสมอเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความต้องการขยายการศึกษาและปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น เรามักจะต้องการเพิ่มจำนวนนักเรียน ครู อาคารสถานที่ พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพต่างๆ เช่น มีตำราเรียนที่ได้มาตรฐาน มีครูที่มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดี มีอาคารเรียนที่มีอุปกรณ์ครบครัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ฉะนั้น ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา จะต้องเป็นการตัดสินใจที่สร้างความสมดุลในเรื่องต่อไปนี้ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสมอภาค คุณภาพกับปริมาณ และ การคัดเลือกกับการเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ในกรณีที่จำเป็นจะต้องเลือก นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ควรเน้นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ควรขยายระบบอุดมศึกษา เพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

เนื่องจากการศึกษาเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ ให้มีความสำนึกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  การศึกษาจึงต้องช่วยให้ทุกคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเสรี มีประสิทธิผล ส่งเสริมความเข้าใจ มีความอดทนในความแตกต่าง เกิดความสามัคคีระหว่างคนในชาติและนานาชาติ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการที่จะประกันสิทธิทางการศึกษา ด้วยการจัดการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องกระตุ้นให้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกระบบโรงเรียน การประถมศึกษาจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ฟรีสำหรับทุกคน ส่วนระดับมัธยมศึกษาควรจัดในรูปแบบต่างๆทั้งสามัญศึกษา ช่างเทคนิค และอาชีวศึกษา และจัดให้ทั่วถึงสำหรับทุกคนโดยใช้วิธีที่เหมาะสม

2.  การศึกษาระดับอุดมศึกษา จะต้องเปิดโอกาสให้ทุคน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมรรถภาพของแต่ละบุคคลและใช้วิธีที่เหมาะสม

3. การศึกษาในระบบ สื่อการสอน และครู จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางและความรับผิดชอบของรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนจะจัดได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับทรัพยากร รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                             สาระคำ

การศึกษ คือ ความเจริญงอกงาม (Education is growth.)

                                                                  John Dewey

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น