วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แนวทางการจัดการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศ จะให้ความสำคัญและเป้าหมายในการจัดการศึกษาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละประเทศ  

ถ้าจะจัดแบ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายออกเป็นกลุ่มๆ โดยยึดแนวทางการจัดการศึกษา  สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเลือกขยาย(Selective expansion) ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มนี้จะต้องพัฒนาระบบการส่งมอบความรู้ โดยอาจใช้วิทยุ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยู่ในโรงเรียน ให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี มีอาหารเพียงพอ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนจะต้องปรับปรุง เพื่อให้มีอุปกรณ์การสอนที่ดี ครูได้รับการฝึกอบรมให้มีความสามารถเพื่อลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ประเทศเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษานอกระบบเป็นอย่างมาก

2. กลุ่มส่งเสริมความเท่าเทียมกัน (Promotion of equality) ประเทศในกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย มีอัตรานักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสูงกว่า มีบางประเทศที่ต้องเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกระบบ ประเทศเหล่านี้จะต้องปรับปรุงสิ่งล่อใจและการสอน ให้ความสำคัญพิเศษกับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนมีการระดมทรัพยากรจากองค์กรเอกชนเพื่อเป็นทุนทางการศึกษา

3. กลุ่มปรับปรุงคุณภาพและสภาพภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น (Improvement of quality and teaching-learning condition) ประเทศในกลุ่มนี้มีระดับรายได้ปานกลาง การศึกษามีเป้าหมายใกล้จะถึงระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน มีอัตราผู้เข้าเรียนสูงในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยมศึกษา เป็นประเทศที่สนใจการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้

4. กลุ่มสร้างความมั่นคงและขยายการปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น (Consolidation and extension of improvement) ประเทศในกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กำลังอยู่ในระยะพัฒนาระบบการศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่สามารถผลักดันอัตราการรู้หนังสือได้สูงกว่าร้อยละ 90 และสามารถจัดการอบรมคนงานให้มีทักษะได้ตามความจำเป็น เป็นประเทศที่ปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรและวิธีสอน มีการขยายการฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ส่งเสริมโครงการการทำวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษา เป็นกลุ่มประเทศที่พยายามทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาหมดไป

5. กลุ่มจัดการเพื่อลดความแตกต่างระหว่าภูมิภาค ( Managing differences in regional priorities) ประเทศในกลุ่มนี้มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ละภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมาก และมีความแตกต่างในเรื่องความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ มีเด็กในประเทศกลุ่มนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ถึง 11 ปีประมาณร้อยละ 40 อยู่นอกระบบโรงเรียน เพราะฉะนั้น ประเทศเหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และวิศวกร โดยถือว่าการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะระดับสูงเป็นเรื่องสำคัญ

อนึ่ง ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องไม่มองข้ามเรื่องการเพิ่มความเป็นเมือง ความกดดันทางวัฒนธรรม อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการกำหนดรูปแบบของสังคม ตลอดจนแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันผู้วางนโยบายทางการศึกษาจะต้องคำนึงถึง การแก้ไขการขาดดุลทางการศึกษา พยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ให้ทุกคนรู้หนังสือ  การลดความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสที่จะได้รับการศึกษา ขยายการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึง การปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

โดยสรุป จะเห็นว่า การจัดการศึกษาจะต้องคำนึงถึงหลักทางการศึกษา คุณภาพชีวิต ความเสมอภาค ความสอดคล้อง ความหลากหลาย เศรษฐกิจ   สังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                           สาระคำ

การศึกษา คือ กิจกรรมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดควาสามารถที่มีประยชน์

ความสามารถที่มีประโยชน์ คือ ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

                                                                Theodore W Schultz.
                                                           นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น