วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยกับการพัฒนา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องที่ได้รับความสนใจจาก นักสังคมศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และนักการเมืองเป็นอย่างมาก คือเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาในช่วงแรก เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศจะต้องเน้นการพัฒนาองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าเมื่อประเทศมีระบบเศรษฐกิจดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบอื่นดีตามไปด้วย

แต่ความเจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ นอกจากการพัฒนาจะต้องมีการพัฒนาหลายมิติ คือ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางวัฒนธรรมแล้ว การพัฒนาที่มุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้น

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (The Modernization Theory) มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ เป็นทฤษฎีที่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาใช้กันอยู่ โดยเฉพาะนักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาสังคมใช้กันมาก

นักสังคมวิทยาและนักรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการสร้างความทันสมัย โดยเน้นความสนใจที่การแปลงรูปสถาบันทางสังคมและการเมืองเป็นเบื้องต้น

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าการทำให้ทันสมัยและการพัฒนา คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การออม การลงทุน รายได้ประชาชาติ ผลิตภาพ และดุลยภาพในการใช้จ่ายเป็นสำคัญ

ทฤษฎีนี้ครั้งแรก เกิดจากการวิเคราะห์ความทันสมัยของ David McClelland และเขาได้เขียนหนังสื่อชือ The Achieving Society (สังคมแห่งความสำเร็จ) หนังสือมีเนื้อหาระบุว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของอารยธรรม ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่ประชากรส่วนใหญ่มีอยู่ สังคมจะมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ก็เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยประชากรที่มีคุณลักษณะทางบุคลิกภาพที่เรียกว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่ได้มาจากการกล่อมเกลาทางสังคม

ในทางสังคมวิทยาได้กล่าวถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความทันสมัยคล้ายกับของ McClelland แต่เน้นเรื่อง ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อ มากกว่าที่จะสนใจบุคลิกภาพโดยรวม

ต่อมา Alex Inkeles นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันได้สร้างคำถามเพื่อวัดทัศนคติขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่ามาตราส่วนวัดความทันสมัย ซึ่งมาตราส่วนนี้ถูกนำไปใช้วัดความทันสมัยอย่างกว้างขวางในระหว่างปี พ.ศ.2503 ถึงปี พ.ศ.2513

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ความทันสมัยเกิดจากความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างตัวแปร 5 ชุด ซึ่งได้แก่ สถาบันทันสมัย ค่านิยมทันสมัย พฤติกรรมทันสมัย สังคมทันสมัย และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ซึ่งตัวแปรทั้ง 5 ชุด มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่อไปนี้คือ สถาบันทันสมัย ส่งผลให้เกิดค่านิยมทันสมัย ค่านิยมทันสมัยส่งผลให้เกิดพฤติกรรมทันสมัย และพฤติกรรมทันสมัยส่งผลให้เกิดสังคมทันสมัย ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนเศรษฐกิจในที่สุด นั่นคือ การทำให้เกิดความทันสมัยจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ

นักทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เห็นความสำคัญของการทำให้เกิดความทันสมัย โดยเชื่อว่า

          1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับความดีของการทำงาน ความสามารถและความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีค่านิยมที่เกี่ยวข้องอื่นๆในจำนวนที่เหมาะสม การทำให้ทันสมัยเป็นการพัฒนา สังคมไม่สามารถพัฒนาได้จนกว่าคนส่วนใหญ่มีทัศนคติและค่านิยมที่ทันสมัย

          2. การสร้างค่านิยมที่ทันสมัย เกิดจากการวางแผนเกี่ยวกับมนุษย์ โดยสถาบันทางสังคมมีความสำคัญในการพัฒนาค่านิยมเล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางเศรษฐกิจ

          3. โครงสร้างทางวัฒนธรรม  สังคม และการเมืองแบบดั้งเดิม ทำให้ยุทธวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพหมดโอกาส เว้นแต่จะทำให้อุปสรรคเหล่านี้หมดไป สังคมจึงจะพัฒนาไปได้ อุปสรรคเหล่านี้จะหมดไปได้ก็โดยการทำให้ทันสมัย

          4. ประเทศยากจนหรือด้อยพัฒนา เป็นเพราะขาดโครงสร้างภายในที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำไปสู่ระบบอุตสาหกรรม คุณสมบัติเหล่านั้น ได้แก่ ทุนเพื่อการลงทุน ค่านิยมของการเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย เป็นทฤษฎีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศตะวันตกในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มอย่างจริงจังในโครงการฟื้นฟูประเทศยุโรปตะวันตกและแผ่ขยายออกไปในประเทศด้อยพัฒนาในช่วงปีพ.ศ. 2493-2503

ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่า การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยจะต้องดำเนินการทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด และความรู้ของคนในสังคมไปพร้อมๆกัน จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                          สาระคำ

แรงจูงใจ คือ พลังผลักดันอันเกิดจาก ความต้องการ แรงขับ และความปรารถนา ให้คนมีพฤติกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย

ค่านิยม คือ สิ่งที่บุคคลหรือสังคมเห็นว่ามีค่า ทำให้อยากเป็นอยากมี

ทัศนคติ หรือ เจตคติ คือ ความรู้สึกที่แสดงออกถึงความชอบหรือไม่ชอบต่อบุคคล สถานที่ สิ่งของ หรือเหตุการณ์

*********************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น