เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่นักการศึกษาว่า พื้นฐานอารยธรรมที่สำคัญคือการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ทำให้มีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้อง และช่วยให้สามารถถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งได้อีกด้วย
ส่วนการพัฒนาที่ใกล้ชิดกับกับการประดิษฐ์ตัวอักษร ก็คือการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับจำนวน การอ่าน การเขียน และเลขคณิตเบื้องต้น
การเรียนรู้ การอ่าน และการเขียน ช่วยให้เข้าใจแหล่งสารสนเทศใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในส่วนบุคคลและชุมชน
มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัย พบว่า การอ่านออกเขียนได้มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เกษตรกรที่สามารถอ่านออกเขียนได้และมีการศึกษาสูง จะมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรในระดับสูง ทำให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ความสัมพันธระหว่างการอ่านออกเขียนได้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ชัดเจนในชุมชนเมือง
และยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีระดับการศึกษาจำกัด จะมีอัตราการมีงานทำต่ำ มีอัตราการว่างงานสูง และงานที่ทำจะเป็นงานที่มีค่าจ้างต่ำด้วย
จากงานวิจัยและประสบการณ์ยังแสดงให้เห็นต่อไปว่า การอ่านออกเขียนได้ยังมีความสัมพันธ์กับความยากจน ผลิตภาพ การสูญเสียบุตร ภาวะทุโภขนาการ อัตราการเพิ่มของประชากร ตลอดจน เป็นองค์ประกอบของความด้อยพัฒนาทุกด้าน การอ่านออกเขียนได้จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
และประเทศต่างๆได้เห็นถึงความสำคัญของเงื่อนไขที่จำเป็นนี้ จึงได้ประกาศสิทธิมนุษยชนสากลขึ้นในปี พ.ศ.2491ความว่า "ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา การศึกษาจะต้องให้ฟรีอย่างน้อยในระดับประถมศึกษา และการศึกษาระดับประถมศึกษาต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับ" ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า การรู้หนังสือ เป็นการศึกษาสำหรับทุกคนที่จะต้องได้รับ อย่างน้อยที่สุดในระดับประถมศึกษา
การรู้หนังสือ(Literacy) คืออะไร การรู้หนังสือตามความหมายที่ Miller ให้ไว้ มีดังนี้
1. ความหมายของการรู้หนังสือตามประเพณีนิยม(Conventional literacy) หมายถึง มีทักษะเกี่ยวกับการอ่านและเขียนอย่างง่ายๆ เช่น สามารถอ่านและเขียนชื่อของตนเอง สถานที่ เข้าใจความหมายของคำที่มีความหมายทางสังคม และเขียนประโยคง่ายๆเพื่อการสื่อสารได้ ตลอดจนเข้าใจเครื่องหมาย ฉลาก คำสอน หรือคำสั่ง ที่จำเป็นต่อการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ
2. ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติการ(Functional literacy) หมายถึง ชุดของทักษะที่ซับซ้อน มีประสิทธิภาพ ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน เป็นความสามารถของบุคคล ที่จะจัดการกับงานในชีวิตประจำวันด้วยความสามารถและความรับผิดชอบ ความหมายของการรู้หนังสือเพื่อการปฏิบัติงาน จึงขึ้นอยู่กับภาระกิจ ทักษะ หรือจุดมุ่งหมายเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความหมายของการรู้หนังสือที่แท้จริง ทีสามารถครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด เพราะแต่ละความหมายถูกกำหนดขึ้นสำหรับความมุ่งหมายหนึ่งความมุ่งหมายใดโดยเฉพาะ ตลอดจนความต้องการที่จะใช้ แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือ การรู้หนังสือเป็นขั้นแรกของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในขณะที่โลกของการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีทักษะและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น ความหมายของการรู้หนังสือจะกว้างขึ้น เพราะความต้องการในสถานที่ทำงานไม่ใช่มีเพียงความสามารถในการอ่าน เขียน และคำนวณเท่านั้น แต่จะต้องมีความสามารถที่จะใช้ทักษะในการแก้ปัญหาด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการรู้หนังสือ ที่เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดให้มีโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือมีดังนี้
1. วัตถุประสงค์ทางสังคมการเมือง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพในชาติ การมีส่วนร่วมของมวลชน เพื่อให้มวลชนสนับสนุนระบอบการปกครอง
2. วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจัดเป็นโปรแกรมที่มุ่งเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ หรือจัดเป็นโปรแกรมทั่วๆไป เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
3. วัตถุประสงค์เพื่อสนองความต้องการ วัตถุประงค์ข้อนี้อาจมีความสำคัญน้อยที่สุด แต่การจัดโปรแกรมเพื่อการรู้หนังสือ เพื่อสนองตอบความต้องการเฉพาะกลุ่มบุคคลและสังคม ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่
นั่นคือ การรู้หนังสือนอกจากจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขจำเป็นเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาทรัยากรมนุษย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สาระคำ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลและชุมชน โดยยึดความจำเป็นของบุคคลและ
สังคมเป็นหลัก
*********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น