วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น:กรณีตัวอย่างจากอดีต

กรณีต่อไปนี้ เป็นการคอร์รัปชั่นที่ทราบทั่วไปในอดีต  เป็นข่าวที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นแทบทุกฉบับ เป็นการคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดเผยให้ประชาชนทราบ
 
ตัวอย่างการคอร์รัชั่นต่อไปนี้  เป็นสิ่งที่บอกให้ทราบว่า  การคอร์รัปชั่นในวงราชการไทยนั้น  มีอยู่ในทุกวงการและเป็นคนในทุกระดับ

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับป่าไม้  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการ (ป.ป.ป.)ในสมัยนั้น ได้พิจารณาสอบสวนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรในฐานะที่มีมลทินมัวหมอง เกี่ยวกับคดีรับมอบไม้สักของกลาง 9,625 ท่อน ที่อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก แล้วขายไม้สักที่จับกุมมาได้ให้กับผู้ต้องหา ได้มีมติปลดออกจากราชการโดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ  แต่อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง มีมติกลับให้ออกจากราชการโดยได้รับบำเหน็จบำนาญ  เพราะมีหลักฐานต่างกัน มีความผิดไม่ชัดแจ้ง คลุมเครือ จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

คอร์รัปชั่นด้วยการสร้างหลักฐานเท็จ  อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย (สมัยนั้นกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทย)  ได้มีคำสั่งปลดอดีตผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ และตำรวจชั้นสารวัตรออกจากราชการฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากทุจริตโดยสร้างหลักฐานเท็จ เบิกเงินนำจับสินค้าเถื่อน 990,000บาท  ความปรากฎขึ้นเพราะไม่แบ่งเงินให้ลูกน้อง

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับเหมืองแร่  ป.ป.ป. ได้ทำการสอบสวนการทุจจริตและความผิดของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่เกี่ยวพันกับการทุจริตสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกภาคใต้ มูลค่านับล้านบาท ผลปรากฎว่า มีอดีตนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ประมาณ 10 คนพัวพันกับการทุจริตครั้งนั้น

คอร์รัปชั่นการเกณฑ์ทหาร  จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้มีคำสั่งให้จำคุกข้าราชการมหาดไทยและนายทหารรวม 33 คน ในข้อหาสมคบกันทุจริตการเกณฑ์ทหาร โดยให้จำคุกตั้งแต่ 7 ถึง 25 ปี ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้ มีตั้งแต่ปลัดจังหวัด สาธารณะสุขจังหวัด นายอำเภอ และผู้ชัวยสัสดีอำเภอ

คอร์รัปชั่นในการประปานครหลวง สหภาพแรงงานการประปานครหลวง ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่าได้พบหลักฐานการทุจริตนับ1000 ล้าน โดยทำบัญชีเท็จว่า  การประปานตรหลวงมีกำไร หวังจะกู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย จำนวน 4,200 ล้านบาท  ทั้งๆที่ปีนั้น การประปานครหลวงขาดทุนถึง 86 ล้านบาท

คอร์รัปชั่นเกี่ยวกับน้ำมัน บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง จ่ายซองขาวให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นรายเดือน เพื่อสะดวกในการทำผิดเงื่อนไขสัญญา ทำให้บริษัทน้ำมันโกยเงินออกนอกประเทศได้ถึงปีละ 200ล้านบาท

คอร์รัปชั่นการเลือกตั้ง มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ได้จัดอันดับ 10 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยอดทราม เนื่องจากทุจริตคดโกงการเลือกตั้ง และมีความประพฤติส่วนตัวไม่สุจริต ซึ่ง นักการเมืองทั้งสิบคนแย้งว่า เป็นความเห็นของหนังสือพิมพ์  แต่ไม่มีนักการเมืองคนใดในสิบคนนั้นฟ้องหนังสือพิมพ์ในข้อหาหมิ่นประมาทเลย

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของกรณีคอร์รัปชั่น ทั้งข้าราชการและนักการเมือง จะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นในวงการรัฐบาลนั้น  มีมานาน และมีทุกวงการ   เหตุนี้กระมังในสมัยนี้ เมื่อมีการ กล่าวหาว่าทุจริต และหาเหตุผลแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้   ผู้ถูกกล่าวจึงมักจะพูดว่า ใครๆก็ทุจริต หรือผลโพลล์ที่ระบุว่า ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เป็นไร ถ้าเอามาแบ่งกัน ซึ่งเป็นผลโพลล์ที่น่ากลัวมากๆ
                                 -------------------------------------------------

                                                          สาระคำ

ป.ป.ป.= คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในวงราชการ (ปัจจุบันได้ยุบเลิกไปแล้ว)
ป.ป.ช.= คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป้องกันและปราบปรามนักการเมืองและข้าราชการตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไป)
ป.ป.ท.= คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  สังกัดกระทรวงยุติธรรม (ป้องกันและปราบปรามข้าราชการต่ำ่กว่าผู้อำนวยการกอง)
                                                 ---------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น