วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมตัวกำหนดการพัฒนาประเทศ

เดิมเชื่อกันว่าประเทศชาติจะก้าวหน้าพัฒนาไปได้  จะต้องมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์  แต่พบว่า มีหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เอเซียใต้ หรือเอเซียอาคเนย์  ต่างก็มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกจัดให้เป็นได้แค่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศในโลกที่สาม 

นักสังคมศาตร์จึงได้พยามศึกษาเพื่อหาว่า  อะไรคือตัวกำหนดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ในที่สุดพบว่า มนุษย์หรือเรียกให้เป็นวิชาการหน่อยว่า องค์ประกอบเชิงมนุษย์นั่นเอง เป็นตัวกำหนดการพัฒนา
 
กล่าวคือ  การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการกระทำของมนุษย์  และตัวที่กำหนดการกระทำของมนุษย์คือวัฒนธรรม จึงไม่ผิดที่จะสรุปว่า วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการพัฒนา 

โดยนักสังคมศาสตร์มีความเห็นว่า การพัฒนานั้นเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคและทางวัตถุ  จะต้องสอดคล้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ แนวความคิด ค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชน

การพัฒนาประเทศ  คือการเปลี่ยนแปลงแบบแผนชีวิตในด้านต่างๆ ของคนที่อยู่ร่วมกันในประเทศ

การพัฒนาจะได้ผล จะต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม  ถ้าการเปลี่ยนแปลงใดไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม  การเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปได้ยาก และหากจำเป็นต้องเปลียนแปลงหรือพัฒนาจะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเป็นเบื้องต้น

ส่วนคำถามที่ว่า  เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศและไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ คำตอบคือว่าประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมต่างกัน ทำให้เกิดการพัฒนาเร็วช้าต่างกัน

ในประเทศพัฒนา คนในสังคมพอใจอย่างสูง ที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคม มีความเชื่อว่าสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ใช่เป็นส่ิ่งขวางกั้นที่ทำให้เกิดความหมดหวัง  แต่เป็นสิ่งท้าทายความเฉลียวฉลาดของคน และเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำได้สำเร็จเกือบจะทุกอย่าง

ในประเทศพัฒนา  มีค่านิยมที่จะผลักดัันให้แต่ละบุคคลแสวงหาความก้าวหน้า ค้นหาความสามารถเฉพาะตัว แล้วนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่รังเกียจงานและยกเลิกการถือชั้นวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

ในประเทศพัฒนา  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบุคคลที่ถือหลักเหตุผล  มีความตั้งใจที่จะรอเพื่อสนองความพอใจที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต  เน้นผลสัมฤทธิ์มากกว่าสถานภาพและเกียรติยศ  มีความสำนึกต่อส่วนรวม มีความสามารถทำงานเป็นกลุ่มโดยมีเป้าหมายร่วมกัน

ในประเทศพัฒนา  ศาสนาถูกตีความไปในทางที่สอนให้คนรับผิดชอบต่อตนเอง  และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต ทำงานหนัก และไม่ยอมปล่อยตนให้หลงใหลในความฟุ่มเฟือย

ในประเทศพัฒนา คนส่วนใหญ่จะมีทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่่อในการที่จะยอมรับสิ่งใหม่ ยอมรับการริเริ่ม ที่จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการพัฒนา  ตลอดมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง

ในประเทศพัฒนา คนส่วนใหญ่มีความจริงจัง  และมีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต  มีความกระเหม็ดกระแหม่ ประหยัด และทำงานหนัก วัดคุณค่าของคนจากการทำงานไม่ใช่จากชาติตระกูล

ส่วนประเทศด้อยพัฒนา จะมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไปอีกรูปแบบหนึ่ง  มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา  และบางสังคมมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นอุสรรคต่อการพัฒนาด้วยซ้ำไป

ในประเทศด้อยพัฒนา จะมีประเพณีซึ่่งประกอบด้วยศาสนา ค่านิยม และโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีค่านิยมที่เน้นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าคุณค่าทางวัตถุ เน้นความสำคัญของชีวิตหลังจากที่ตายไปแล้วหรือชีวิตในชาติหน้า มีการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต

ในประเทศด้อยพัฒนา คนในสังคมมีความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติและเงื่อนไขทางสังคมต่ำมาก อย่างกรณีน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ก็เชื่อว่าเกิดจากธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจแก้ไขได้

ในประเทศด้อยพัฒนา มีลักษณะทางวัฒนธรรมหลายประการ  ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การคิดแต่จะหาความสุขในปัจจุบัน  ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน  ทำงานเป็นกลุ่มไม่เป็น มีการใช้จ่ายเพื่อพิธีกรรมสูง ใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการเฉลิมฉลอง เป็นต้น

นั่นคือ  หากต้องการจะพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิม และเสริมสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนา  หากไม่มีการเริ่มในลักษณะดังกล่าว  การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการพัฒนาดังกล่าวแล้ว
                                 -----------------------------------------------------------

                                                                 สาระคิด

 การมุ่งแต่อนุรักษ์วัฒนธรรมโดยไม่ยอมปรับเปลี่ยน  อาจจะกลายเป็นการอนุรักษ์ความด้อยพัฒนาก็ได้

                                                      ----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น