วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความล้มเหลวของโลกาภิวัตน์

โลกาภิวัตน์เป็นอุดมการณ์  เป็นแนวความคิด ที่จะทำให้ประเทศต่างๆในสังคมโลกมีประโยชน์ร่วมกัน เสมือนคนในหมู่บ้านเดียวกัน เสมือนคนในสังคมเดียวกัน แต่เนื่องจากแนวคิดโลกาภิวัตน์ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว  ประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ผลที่ตามมา จึงเกิดการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและมีการแทรกแซงทางการเมืองอย่างไร้พรมแดน

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ จากกระบวนการและนโยบายโลกาภิวัตน์ ทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่า โลกาภิวัตน์มีความจำเป็นสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งล่อใจทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่า จะทำให้ทุกประเทศมีความร่ำรวยเสมอหน้ากัน

แต่ในความเป็นจริง  แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวจะสูงขึ้นตลอดศตวรรษที่ 20  แต่ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจนกลับเพิ่มมากขึ้น

โลกาภิวัตน์ทำให้อัตราการลงทุนในประเทศที่ยากจนลดลง ผลผลิตลดลง ยกเว้นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ ที่เรียกว่ากลุ่ม จี 7 ที่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 0.4ในระหว่างปี ค.ศ.1971-1982 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.6 ในระหว่างปี ค.ศ. 1983-1994  ส่วนประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  มีรายได้ต่อหัวลดลงจากร้อยละ 3.3 ในระหว่างปี ค.ศ.1960-1973 เป็นร้อยละ 0.8 ในระหว่างปีคศ.1973-1995

โลกาภิวัตน์ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  คือเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน  และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจน

สภาพเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาแย่ลงหลายด้าน  ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีมากว่า 70 ประเทศ ที่มีรายได้ต่อหัวลดต่ำลง  ประชากรโลก3,000,000,000 คน มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 80 บาท และมีจำนวนถึง 800,000,000 คนที่มีปัญหาทุโภชนาการ

ความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา  เกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มอิทธิพลของประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวย
และประเทศกำลังพัฒนาเองก็ไม่เคร่งครัดในการไหลเข้าของเงินทุน ไม่พยายามแสวงหาทางเลือก กลับพยายามชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น  โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มการจ้างงาน
 
นอกจากนั้น  โลกาภิวัตน์ยังเพิ่มการกระจายทางการเงิน จนทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นในปี ค.ศ. 1980  โดยเริ่มที่ประเทศเม๊กซิโก แล้วลามไปยังทวีปเอเซีย
  
เพราะโลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่ช่วยบรรษัทข้ามชาติ จึงมีแต่ประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ธนาคารโลก ก็ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็ดี ต่างก็ได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนี้ โดยกำหนดให้ประเทศที่เป็นลูกหนี้  จะต้องถือเป็นความสำคัญอันดับแรก  ที่จะต้องจ่ายหนี้นอกประเทศ  ทำให้ประเทศที่เป็นหนี้ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณเพื่อพลเมืองในระดับรากหญ้าของประเทศ

ความล้มเหลวในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ในทางการเมือง พบว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้ส่งเสริมทางเลือกที่เป็นประชาธิปไตย  เพราะกระบวนการต่างๆถูกขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  นอกจากนั้นประเทศกำลังพัฒนาเอง ก็ยังช่วยเหลือให้บรรษัทข้ามชาติให้มีกำไรเพิ่มขึ้น การช่วยเหลือดังกล่าวกระทำภายใต้ร่มเงาของประชาธิปไตย  ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของประเทศที่มั่งคั่ง

การเพิ่มกำไรทางธุรกิจทำให้เพิ่มอำนาจทางการเมือง  ทำให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเงินของธุรกิจ  ผู้ประกอบการทางธุรกิจมีอำนาจเหนือรัฐบาล  มีผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแออย่างสม่ำเสมอ มวลชนขาดอำนาจต่อรอง  ประชาธิปไตยไม่สามารถรับใช้สามัญชนได้อีกต่อไป  การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่มีความหมาย  ไม่มีแก่นสาร

ทั้งหมดเป็นตัวอย่าง  ที่แสดงถึงความล้มเหลวของโลกาภิวัตน์ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นโลกใบเดียวที่มีประโยชน์ร่วมกันอย่างไร้พรมแดน
                                                     --------------------------------------------------
 
                                                                              สาระคำ

                OECD = Organization for Economic Cooperation and Development.
                กลุ่ม จี 7 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน แคนาดา และญี่ปุ่น
                                                                -----------------------------------          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น