วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความรู้เรื่องวัฒนธรรม

คำว่า"วัฒนธรรม"  ในทาง มานุษยวิทยา มีคความหมายแตกต่างออกไปมากมาย  แต่สามารถสรุปได้ว่า "วัฒนธรรม  หมายถึง  วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมทั้งมวลที่ได้จาการเรียนรู้ จากการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม"

อนึ่่ง ในการให้ความหมายของวัฒนธรรมได้ยึดหลักสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก วัฒธรรมไม่ได้หมายรวมถึงพฤติกรรมที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางชีววิทยา เหมือนกับอธิบายเรื่องความหิว การเจริญเติบโตของร่างกาย ฯลฯ ประการที่ 2 วัฒนธรรมเล็งไปที่การดำเนินชีวิตของกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น วิธีการทำงาน พิธีแต่งงาน การรับประทานอาหาร ฯลฯ

จะเห็นว่าการกระทำของมนุษย์  ที่นอกเหนือไปจากการกระทำทางชีวภาพแล้ว  ถือว่าเป็นการกระทำทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น  เช่น  ความหิวไม่ใช่วัฒนธรรม แต่การกินเป็นวัฒนธรรม เพราะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมที่ต่างกัน

วัฒนธรรมนั้นได้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ส่วนที่มองเห็นได้  อันได้แก่การกระทำและสิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น  เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับวัตถุ เช่น จาน ช้อน อาคาร ฯลฯ  กับ ส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งได้แก่ แนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ  วัฒนธรรมส่วนนี้เป็นตัวกำหนดรูปแบบและรูปร่างของวัฒนธรรมทั้งหมด

เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมชัดเจนขึ้น จะขอกล่าวถึงลักษณะที่สำคัญๆของวัฒนธรรม ไว้ดังนี้

วัฒนธรรมจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมของมนุษย์  มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากวัฒนธรรมไม่ได้ เพราะไม่อาจต่อสู้กับสัตว์อื่นได้  และจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งติดตัวมาแต่กำเนิด วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ถ่ายทอดโดยผ่านทางพันธุกรรม แต่เกิดจาการอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาอบรม วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น

วัฒนธรรมแต่ละสังคมแตกต่างกัน  เป็นความแตกต่างที่ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ว่าวัฒนธรรมใดดีหรือเลวกว่ากัน  เพราะแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีความถูกต้องเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคมซึ่งแตกต่างกัน

วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเวลาเปลี่ยน  สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน
 
วัฒนธรรมมีการใช้ร่วมกัน เมื่อมนุษย์สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา วัฒนธรรมนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับหรือเห็นพ้องกันของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคม และมีการใช้วัฒนธรรมนั้นร่วมกัน เพื่อว่าวัฒนธรรมนั้นจะได้อยู่ยั่งยืนต่อไป

วัฒนธรรมอาจสลายได้   เมื่อวัฒนธรรมใดไม่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อ หรือถูกกลืนจากอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่แข็งกว่า วัฒนธรรมก็จะหายไป และเกิดวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาแทน

วัฒนธรรมมีลักษณะบูรณาการ  คือรวมเอาหลายสิ่งหลายอย่างไว้ด้วยกัน เป็นการรวมเอาแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือวัฒนธรรมย่อยของท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมย่อยตามอาชีพ มารวมกันเป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

จะเห็นว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่คู่กับสังคม ในทางมานุษยวิทยา วัฒนธรรมไม่ได้บอกถึงความดีงาม หรือบอกว่าวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งดีกว่าวัฒนธรรมของอีกสังคมหนึ่ง  และที่สำคัญ  วัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนได้เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป
                                       ---------------------------------------------------------

                                                                    สาระคำ

ความล้าหลังทางวัฒนธรรม  หมายถึง  สถานการณ์ที่วัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนก่อให้เกิดการขาดสมดุลย์และความไม่กลมกลืนขึ้นในสังคม

                                                       --------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น