วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Law)

เกณฑ์ทีใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนี้ ใช้เกณฑ์องค์กรผู้ตรากฎหมายเป็นหลัก  กล่าวคือ ถ้าระบบการเมืองการปกครองถือว่าองค์กรใดสูงสุด  กฎหมายที่ออกโดยองค์กรนั้นก็จะสูงสุดตามไปด้วย   ส่วนองค์กรที่สำคัญรองลงมา กฎหมายที่ออกโดยองค์กรนั้น  มีศักดิ์ลดหลั่นรองลงไป

ประเทศไทยถือว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุด  รัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมร่างจึงมีศักดิ์สูงสุด ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย  3  องค์กร คือ รัฐสภา  รัฐบาล และศาล  กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา  รัฐบาล จะมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมา  ก็มีความสำคัญไม่เท่ากัน  กล่าวคือ รัฐสภาจะสูงกว่ารัฐบาล  กฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น โดยหลักจึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่รัฐบาลตราขึ้น

นอกจากนั้นในฝ่ายบริหารเอง  ฝ่ายบริหารระดับชาติ  ย่อมมีความสำคัญและมีฐานะสูงกว่าฝ่ายบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลจึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ศักดิ์ของกฎหมายมีผลในทางกฎหมาย  3  ประการ  กล่าวคือ
          1. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะตราออกใช้ก็โดยอาสัยกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
          2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จะตรากฎหมายเกินอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ากำหนดไว้ไม่ได้  ถ้าตราเกินอำนาจถือว่ากฎหมายนั้นไม่มีผลบังคับ
          3. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า  จะขัดหรือแย้งกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้  กรณีที่ขัดหรือแย้งกัน  ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ  ไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะตราออกใช้ก่อนหรือหลัง

                                                -------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น