วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย:ความหมายและลักษณะ

บุคลิกภาพมีความสำคัญอย่่างยิ่งต่อการปกครองและการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย  นักรัฐศาตร์พบว่าสังคมใดที่ประกอบด้อยบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม  ประชาธิปไตยในสังคมนั้นจะประสบความล้มเหลวหรือมีพัฒนาการไปอย่างช้าๆ  ในทางตรงกันข้าม ถ้าสังคมใดประกอบด้วยบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย  สังคมนั้นจะประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างประชาธิปไตย  ทั้งในวิถีการดำเนินชีวิตและการปกครอง

ส่วนบุคลิกภาพ  หมายถึงผลรวมของคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่ความสนใจ ทัศนคติ อุปนิสัย ความสามารถ การพูด ลักษณะภายนอก การปรับตัว  หรือ บุคลิกภาพ  หมายถึงแบบแผนทั่วไปของชีวิต  หรือบุคลิกภาพ หมายถึงแบบแผนของพฤติกรรม  ซึ่งมีลักษณะคงที่  เป็นพฤติกรรมที่ขึ้นอยู่กับรากฐานของความคิด ความรู้สึกและการรับรู้

บุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคน  ในทางการเมืองหากคนในสังคมส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพแบบใดมาก การเมืองการปกครองจะมีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น

สำหรับคำว่า ประชาธิปไตย อาจจำแนกได้เป็น 2 ความหมาย คือ ประชาธิปไตย  หมายถึงระบอบการปกครอง กับประชาธิปไตยที่  หมายถึงสัมพันธภาพระหว่า่งบุคคล

ประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครอง ผู้ปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใต้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองจะต้องมีสิทธิ์เปลี่ยนผู้ปกครองได้เป็นครั้งคราว สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนจะต้องได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ จะต้องถือว่าบุคลลแต่ละคนเป็นหน่วยของชาติที่มีความสำคัญที่สุด มีศักดิ์ศรี และมีความศักดิ์สิทธิ์อันจะละเมิดมิได้

ส่วนประชาธิปไตยที่เป็นสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในสังคม จะต้องประกอบด้วย  การเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน  มีการตกลงโดยสันติวิธี และ มีความยุติธรรมในสังคม

สำหรับผู้มีบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตยนั้น ได้แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติ ดังนี้  มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่นิยมการยอมตามความคิดเห็นของคนอื่นเว้นเสียแต่ว่าจะถูกชักจูงให้คล้อยตามด้วยเหตุผลที่ควรจะเชื่อถือ  เป็นคนที่ปรับตัวให้เข้ากับสถานะการณ์ใหม่ๆได้ง่าย  มีความรับผิดชอบผูกพันในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจทำลงไป   ไม่อคติต่อผู้ที่มีความแตกต่างจากตน เช่น ต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างความคิด ฯลฯ  คิดถึงบุคคลอื่นในฐานะที่คนนั้นเป็นตัวของเขาเองไม่ใช่จัดประเภทให้เขาโดยไม่มีเหตุผล
มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ   มีศรัทธาและความหวังต่อชีวิต  ไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้ยิ่งใหญ่ง่ายๆแม้ว่าจะยอมรับอำนาจแต่อำนาจนั้นต้องมีเหตุผลหรือมีความชอบธรรม

ถึงตอนนี้ เห็นจะต้องถามตนเองว่ามีบุคลิกภาพแบบประชาธิปไตยแล้วยัง บ้านเมืองเรามีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วหรือยัง  ถ้ายังและอยากเป็นประชาธิืปไตยเห็นจะต้องช่วยกันตอบว่า  จะพัฒนาตนเองและการเมืองการปกครองกันอย่างไร  จึงจะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
                                        ---------------------------------------
                                                    สาระคำ

ปรองดอง ก. ออมชอม ประนีประนอม ยอมกัน ไม่แก่งแย่งกัน ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย ตกลงกันด้วยไมตรีจิต
                                          --------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น