วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่น เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษว่า  corruption หมายถึง ความชั่ว ฉ้อราษฎร์บังหลวง การติดสินบน สำหรับคำไทย  ก็มีคำว่า ทุจริต หมายถึง  ความประพฤติชั่ว เป็นคำที่หมายรวมถึง  การประพฤติชั่วทุกชนิด ลึกซึ้งตั้งแต่  การประพฤติชั่ว ทางกาย ทางวาจา ตลอดจนการประพฤติชั่วทางใจ

ถ้าจะถามว่า คนเพศใด วัยใด อาชีพใด ทุจริตบ้าง ก็เห็นจะต้องตอบว่าทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ  เด็กก็เริ่มด้วยการลอกการบ้าน ข้าราชการก็ฉ้อราษฤร์บังหลวง นักการเมืองก็อาจฉ้อหลวงบังราษฏร์ ประชาชนทั่วไปก็อาจติดสินบน นักธุรกิจก็อาจโกงภาษี สื่อมวลชนก็อาจรับจ้างเขียนบทความใส่ร้ายฝ่ายตรงกันข้าม แต่ถ้าหมายเฉพาะฉ้อราษร์บังหลวง การติดสินบน ก็หนักไปทางข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และนักการเมือง  โดยมีประชาชาชนเกี่ยวข้องบ้าง ไม่เกี่ยวบ้าง

การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยมีมานาน  อาจกล่าวได้ว่า  มีมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังมีข้อความประกฏในลิลิตพระลอตอนหนึ่งว่า "เอาสินสกางสอดจ้าง แข็งดั่งเหล็กเงินง้าง อ่อนได้ดังใจ"

จึงอาจกล่าวได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นมีอยู่คู่สังคมไทย

ปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยจึงเป็นปัญหาที่เรื้อรัง  มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกันประดุจลูกโซ่  คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกสังคม โดยเฉพาะในวงราชการ  เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงเสมียนพนักงาน

นายกรัฐมนตรีที่โด่งดังในอดีต  เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นก็เห็นจะเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  และมีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งต้องตายในคุก  เพราะทุจริตต่อหน้าที่  โกงกินป่าไม้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สำหรับในยุคปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น ทั้งที่ศาลตัดสินแล้วและมีคดีค้างอยู่ในศาล ก็มี   พตท.ดร.ทักษิณ   ชินวัตร์  ส่วนระดับรัฐมนตรีที่ศาลตัดสินจำคุก ก็มี นายรักเกียรติ สุขธนะ  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในคดีทุจริตสินบนยา 5 ล้านบาท 

คอร์รัปชั่นเป็นตัวทำลาย  ศึลธรรมจรรยา ค่านิยม และคุณธรรมของสังคม ให้สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง นักคอร์รัปชั่นบางคนอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ เป็นที่ยกย่องนับหน้าถือตาของคนทั่วไป  ทั้งๆที่รู้ว่า บุคคลผู้นั้นร่ำรวยหรือ ได้ตำแหน่งมาโดยการทุจริตคอร์รัปชั่น คล้ายกับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย

มีรัฐบาลกี่รัฐบาล พรรคการเมืองกี่พรรค คณะรัฐประหารกี่คณะ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กี่คน ที่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำว่าตน  หรือคณะของตนไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น

แม้จะมีความพยายามออกกฏหมายหรือ  จัดให้มีองค์กรอิสระต่างๆเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ลงโทษได้แต่พนักงานหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย

รัฐบาลสมัยหนึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำการวิจัยเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่อาจนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบได้ เพราะกระทบกระเทือนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจหลายคน โดยเกรงไปว่าเป็นการสาวไส้ให้กากิน

ด้วยเหตุนี้  อาจกล่าวได้ว่าตราบใดที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ตราบนั้นการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อันได้แก่  ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหาร จะดำเนินไปได้ยาก
                                                   ---------------------------------------------

                                                                        สาระคิด

                                         การบันเทิงใดจะมีราคาถูกเทียบได้กับการอ่านหนังสือ

                                                                          เม่งจื๊อ
                                                              ----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น