วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฐมบทเรื่องการศึกษา

การศึกษามีมานานนับตั้งแต่เริ่มมีสังคมมนุษย์ แต่ในระยะเริ่มแรก   การศึกษาเป็นแบบง่ายๆ  มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้รู้จักการดำรงชีวิต ความอยู่รอดปลอดภัย และการดำรงอยู่ของหมู่คณะ  เนื้อหาที่นำมาอบรมสั่งสอนส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ ความรู้ที่จะแสวงหาและใช้ปัจจัยสี่  อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  เป็นการศึกษาที่จัดให้กับสมาชิกใหม่ของสังคมนั้นๆ   คือเด็กและเยาวชน  ทั้งนี้  เพื่อช่วยตระเตรียมสมาชิกใหม่เหล่านั้น ให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ  หรือสมาชิกเก่าได้อย่างดี

ในระยะแรกที่ไม่มีสถาบันการศึกษา   การถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรมและทักษะที่จำเป็น จะทำผ่านสถาบันอื่นๆในสังคม  อันได้แก่  สถาบันครอบครัว  และสถาบันศาสนา  และเมื่อสภาวะทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป  สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น  มีความจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับสังคมอื่นๆมากขึ้น เกิดแรงผลักดันให้เกิดสถาบันทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา  เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาโดยเฉพาะ
สถาับันที่ว่านี้ คือสถาบันการศึกษา  อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาก็ไม่ได้เกิดในทุกสังคมพร้อมๆกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละสังคม

สถาบันการศึกษาในสมัยแรก  เป็นกิจกรรมของกลุ่มผู้นำของสังคม เป็นอภิสิทธิ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง  เื้นื้อหาสาระของการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนา ปรัชญา วรรณคดี และวัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ จุดเน้นอยู่ที่ความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตน
 
ต่อมา เมื่อเริ่มมีการขยายการจัดการศึกษาให้กว้างขึ้น จึงจะเปิดโอกาสให้แก่คนนอกแวดวงผู้นำ  แต่ก็มีกฎเกณฑ์มากมาย  เพื่อกลั่นกรองบุคคลให้เข้าสู่ระบบจำนวนแต่น้อย  และเมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไป  จึงได้ทำให้มีการศึกษาสำหรับคนธรรมดาสามัญขึ้น

ปัจจุบัน  ระบบการศึกษาได้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  การศึกษากลายเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่สุด  ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในด้านต่างๆ

ต่อคำถามที่ว่า การศึกษาคืออะไร เนื่องจากการศึกษามีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ความหมายของการศึกษาจึงกว้างมากและยากที่จะให้นิยามได้ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการด้านต่างๆ  ได้ให้ความหมายการศึกษา ดังนี้

ดิวดี้ (Dewey)  นักการศึกษาชาวอเมริกัน ให้ความหมายว่า การศึกษา  คือความเจริญงอกงาม เป็นความเจริญเติบโต ทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยมีทิศทางไปในทางที่สังคมปรารถนา

ไนเยเรเร (Nyerere) อดีตประธานาธิบดีของแทนซาเนีย ให้ความหมายการศึกษาว่า การศึกษา คือการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรก็ได้  ที่ช่วยให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เรามีชีวิตอยู่   และวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนและใช้สภาพแวดล้อม  เพื่อปรับปรุงตัวเอง  และการศึกษาจะต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพลเมืองแต่ละคน 3 ประการคือ (1) มีจิตใจที่อยากรู้อยากเห็น (2) มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากคนอื่น (3) เป็นสมาชิกที่เท่าเทียมกันของสังคม

ชูลท์ซ (Schultz)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน  ให้ความหมายการศึกษาว่า  การศึกษา  คือกิจกรรมในการเรียนการสอนและการเรียนรู้  ที่ทำให้เกิดความสามารถที่มีประโยชน์  สำหรับความสามารถที่มีประโยชน์นั้น ชูลท์ซ อธิบายว่า หมายถึง ความสามารถที่มีคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ

สปินเลอร์ (Spindler)  นักมานุษยวิทยา มีความเห็นว่า การศึกษา คือกระบวนการถ่าทอดวัฒนธรรม  ซึ่งประกอบด้วยความชำนาญด้านต่างๆ  ความรู้  ทัศนคติ  ค่านิยม  และรูปแบบของพฤติกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี นักการศึกษาของไทย ได้ให้ความหมายของการศึกษาว่า การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ห้า อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้

เมื่อประมวลความหมายของนักวิชาการสาขาต่างๆดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง  เสริมสร้าง  และถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่า  ให้กับสมาชิกของสังคม  เพื่อให้เป็นสมาชิกที่สังคมพึงปรารถนา
                                         ------------------------------------------------------
                                                                     สาระคิด

           บ้านเมืองวุ่นวาย  เพราะผู้มีอำนาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตน  โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

                                                           -------------------------------
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น