วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเมืองที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่ต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง  พลเมืองได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค  มีความเป็นธรรมในสังคม  และจะต้องไม่สร้างความหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้เหตุผล หรือบิดเบือนอุดมการณ์ ปัญหาด้านการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ความรู้พื้นฐานทางการเมืองของประชาชน  ประชากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และความสนใจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย  ที่ได้รับอำนาจมาโดยการรับมรดกตกทอด  หรือโดยใช้กำลัง  หรือโดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือได้อำนาจมาโดยวิธีการทุจริต  หรืออำนาจอื่นใดที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วม  ชนชั้นนำเหล่านี้ มักใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก  มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม  เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ลักษณะทางการเมืองการปกครองลักษณะนี้  ทำให้ประชาชนบางส่วนถูกกีดกัน เกิดการผูกขาดตัดตอน  ประชาชนต้องรับภาระในด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างไร้เหตุผล

การลอกเลียนแบบระบบการเมืองจากต่างประเทศ   ชนชั้นนำของประเทศมีความเชื่อว่า  ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยแสดงถึงความทันสมัย  เป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการของระบอบการเมือง ประกอบกับประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น  สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้น   ทำให้คนจำนวนมากมีส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้น  จึงได้เลียนแบบระบบการเมืองของประเทศที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงมาใช้  โดยไม่สนใจว่าคนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบการเมืองนั้นๆหรือไม่ จึงได้นักการเมืองที่ขาดอุดมการณ์ ที่นำอุมการณ์ประชาธิปไตยมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประโยชน์ตน เครือญาติ และพรรคพวก หนังสือพิมพิมพ์ขาดความรับผิดชอบ มีการเขียนข่าวโดยขาดความเป็นธรรม  รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน  ต้องมีการเลือกตั้งบ่อยๆ ทำให้นโยบายของรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง เศรษฐกิจชงักงันเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน

การใช้อำนาจทางการเมือง   เนื่องจากผู้นำทางการเมืองไม่ได้อำนาจมาด้วยการสนับสนุนของประชาชนอย่างสุจริต มีการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อมีอำนาจทางกาเมือง  มักจะใช้อำนาจของตนไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทางทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง  ผลประโยชน์จึงตกแก่ตนและพรรคพวกมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ มีการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการฉ้อฉลเบียดบังเงินของรัฐและเอกชนนำไปสู่ปัญหาตามมา 2 ประการ คือ  ผู้นำทางการเมืองมักมีผลประโยชน์ในบางบริษัทร่วมกับเอกชน การทำงานจึงพะวงในการหาผลประโยชน์ มากว่าที่จะทำเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ผู้มีอำนาจทางเมืองมักจะใช้อำนาจปกป้องคุ้มครองธุรกิจที่ตนมีหุ้นส่วน หรือที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้ตนอยู่  เกิดการผูกขาดแอบแฝง ทำให้ไม่มีการแข่งขันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการลดต้นทุนการผลิต  ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ไม่เป็นธรรม คนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางการเมืองจะได้เปรียบ ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์

ความมีเสถียรภาพทางการเมือง  เนื่องจากการเมืองขาดเสถียรภาพ มีการเปลี่ยนผู้นำทางการเมืองและผู้บริหารประเทศบ่อยครั้ง  ทำให้การบริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง  เมื่อมีผู้นำใหม่ขึ้นมา ก็คิดโครงการใหม่ขึ้นมาแทนที่ผู้นำคนก่อน โครงการเดิมถูกโละทิ้ง ทั้งๆที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ  นอกจากนั้น มีการบิดเบือนเป้าหมายของการพัฒนา เพื่อประโยชน์ตนและผู้นำทางการเมืองอีกด้วย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และนำไปสู้การทุจริตฉ้อฉล

การตัดสินใจของผู้นำทางการเมือง  เนื่องจากประเทศมีทรัพยากรจำกัด  การตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองจึงมีความสำคัญ  การตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การตัดสินใจเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง  การตัดสินใจที่เป็นไปตามความเห็นส่วนตัวของผู้นำทางการเมืองโดยไม่อาศัยหลักวิชา  ทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมในที่สุด

 ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การเมืองมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หากประเทศได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ  และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว  ไม่ลุ่มๆดอนๆอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
                                               ---------------------------------
                                                              สาระคิด 

บางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องถามตัวเองบ้างเหมือนกันว่า  นักการเมืองที่พวกท่านปกป้องคุมครองอยู่ มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองหรือไม่
                                                    -------------------------  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น