วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร

เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  ส่วนใหญ่มุ่งที่การเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจเจริญเติบโต  จะเป็นขยายโอกาสในการทำงาน และเมื่อประชาชนมีงานทำ  จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

แต่จากประสบการณ์พบว่าไม่เป็นไปเช่นนั้น  เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมองตัวเลขจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็นการไม่เพียงพอ  จะต้องมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมอีกด้วย
  
เพราะหากมีกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีรายได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ  อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะไปตกอยู่ที่คนกลุ่มนั้น  ทำให้เพิ่มพูนรายได้ขึ้นเรื่อยๆ  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้ต่ำ โอกาสที่จะเพิ่มรายได้ให้กับตนเองจะน้อยลง จนก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้  มีทั้งแนวความคิดที่สนับสนุนและคัดค้าน  มีทั้งที่เห็นว่าดีและไม่ดี

แนวคิดที่เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเชื่อว่า การปล่อยให้บุคคลในสังคมมีรายได้ที่แตกต่างกัน จะก่อให้เกิดผลดี ดังนี้

            1. เป็นการส่งเสริมและจูงใจในการทำงาน  การที่บุคคลทำงานแล้วได้ผลตอบแทนอย่างเต็มที่ตามความสามารถ  จะเป็นการกระตุ้นให้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้น  เพราะยิ่งทำมากก็จะยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ผลที่ตามมาจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น
 
            2. เป็นการส่งเสริมให้มีการออมและการสะสมทุนในประเทศมากขึ้น  การมีรายได้ที่ต่างกัน จะช่วยให้บุคคลที่มีรายได้สูง มีการออมและสะสมทุน แต่หากมีรายได้เท่าเทียมกัน การออมของประชากรในประเทศจะลดลง

แนวคิดที่เห็นว่าความไม่เทียมกันของรายได้เป็นสิ่งไม่ดี   โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

             1. เหตุผลด้านความเป็นธรรมในสังคม การที่ประชากรมีรายได้ไม่เท่าเทียมกัน  จะก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ซึ่งมีจำนวนน้อย จะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่อีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีรายได้น้อย อดอยาก ถูกเอารัดเอาเปรียบ  และมีโอกาสเลื่อนฐานะตนเองได้น้อย ขาดโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพ

             2. เหตุผลทางด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมือง  การที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้น้อย  และตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบทางสังคม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดขี่จากคนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวย อาจจะมีการลุกฮือล้มล้างการปกครองของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ประชาชนมีรายได้เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำได้แต่เพียงพยายามให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันตามความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันรัฐควรให้ความสนใจดูแลสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
                                  --------------------------------------------------------------------

                                                                       สาระคิด

เศรษฐกิจ หมายถึง การมีของกินของใช้ ระยะใดที่ประเทศมีของกินของใช้มาก กล่าวได้ว่าระยะนั้นประเทศมีเศรษฐกิจดี  ในทางตรงกันข้าม ระยะใดที่ประเทศมีของกินของใช้น้อย กล่าวได้ว่าระยะนั้นประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
                                                                                     นิรนาม
                                                      ------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น