ปทัสถาน หมายถึง มาตรฐานของพฤติกรรมของคนในสังคม เป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ สมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานของสังคม
ประเทศชาติจะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากปทัสถานทางสังคม ว่าเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
หากพิจารณาถึงปทัสถานของสังคมไทย พบว่ามีปทัสถานทางสังคมหลายอย่างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น การไม่มีวินัย การเชื่อในอำนาจภายนอก เหล่านี้เป็นต้น
นักวิชาการได้ทำการศึกษาและสรุปว่า สังคมไทยควรมีการปรับเปลี่ยนปทัสถานของสังคมใหม่ ให้เอื้อต่อการพัฒนามากขึ้น ในลักษณะต่อไปนี้คือ
1. การยึดหลักการและบุคคล โดยปกติคนไทยนั้นยึดบุคคลมากกว่าหลักการ จึงควรเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับหลักการมากกว่าบุคคลบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างหลักการกับบุคคลเกิดขึ้น จะต้องให้หลักการสำคัญกว่าบุคคลเสมอ
2. นิยมในการทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้ เพราะคนไทยมีการเลือกงานค่อนข้างสูง ไม่นิยมงานที่ต้องใช้แรง ตลอดจนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในแทบทุกวงการ หากมีการเลือกงานและทุจริตกันต่อไป แน่นอนว่าความหายนะจะเกิดขึ้นในสังคมแน่นอน
3. นิยมยกย่องบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม และประณามหรือลงโทษผู้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม โดยวิธีการที่เฉียบขาดและพร้อมเพรียงกัน โดยเลิกนิสัยธุระไม่ใช่
4. นิยมการออมเพื่อการลงทุน ลดการบริโภคในทางฟุ่มเฟือยลง
5. ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิชาการชั้นสูงต่างๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อความรู้ต่างๆจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพวก
6. ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นระเบียบ การเคารพกฎหมาย และเคารพในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน
7. สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับสาธารณสมบัติ อันเป็นสมบัติของส่วนรวมและสังคมให้ลึกซึ้งและถูกต้องยิ่งขึ้น
8.ลดการเชื่ออำนาจภายนอกให้น้อยลง และศรัทธาในความสามารถของตนเองมากขึ้น สร้างความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถทำได้ ถ้าใช้ความพยายามเต็มที่ ขณะเดียวกัน ลดการเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติให้น้อยลง
9.เพิ่มลักษณะการมุ่งอนาคตให้มากขึ้น และลดการมุ่งปัจจุบันให้น้อยลง อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างมีแผน แทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปทัสถานดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ จะต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างปทัสถานทางสังคม ให้สมาชิกของสังคมมีปทัสถานที่พึงประสงค์
--------------------------------------------------------------------
สาระคิด
ธรรมะช่วยให้เรามีชีวิตอย่างถูกต้อง สิ่งที่เรียกว่าบาป หรือโชคร้าย ย่อมไม่มีแก่ผู้ประพฤติธรรม
พุทธทาสภิกขุ
----------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น