ทรัพยากรมนุษย์ เป็นความรู้ ทักษะ และความสามารถของมนุษย์ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจำแนกความหมายออกได้ดังนี้
ในทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง การสะสมทุนมนุษย์ และความมีประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาเศรษฐกิจ
ในทางการเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการเตรียมพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เมื่อเติบโตเป็นผู็ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ในทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สมบูรณ์และมั่นคง ติดยึดกับประเพณีที่ล้าหลังน้อยลง
จากความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่า การทรัพยากรมนุษย์นั้น มิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
ในทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายใกล้เคียงกับ กำลังคน ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรมนุษย์ในรูปปัจจัยการผลิต
ประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิผลที่เป็นตัวอย่างได้อย่างดี ก็คือ สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ ที่มีนโยบายใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิผล จนทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะเริ่มแรก โดยเกาหลีใต้ได้ดำเนินนโยบายในลักษณะต่อไปนี้ คือ
1. พัฒนาระบบการศึกษาอย่างดี จนประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับทุกคน ตลอดจนพัฒนาให้ประชากรมีความสามารถในการบริหารจัดการและการประกอบการ
2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก ที่เน้นการใช้แรงงานอย่างจริงจัง โดยไม่สนับสนุนการผลิตที่เน้นการใช้ทุน
3. รักษาระดับค่าจ้างและเงินเดือนของภาคเศรษฐกิจระดับกลางและภาคทันสมัย ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ
4. ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรรมที่เน้นใช้แรงงงาน พร้อมๆไปกับการปฏิรูปที่ดินและการทำฟาร์มขนาดเล็ก
5. ผลิตกำลังคนที่มีการศึกษาสูง ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผล
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2540 เกาหลีใต้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้องเข้าโปรแกรมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อย่อว่า IMF) เช่นเดียวกับประเทศไทย
จึงสอดคล้องกับความคิดที่ว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว
แต่จากการที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีใต้ได้รับการพัฒนาอย่างดีดังกล่าวแล้ว ทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีความก้าวหน้าอย่างที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
-----------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโทางเศรษฐกิจ แต่ต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ควบคู่ไปด้วย
----------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น