วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์ทางการศึกษา

การศึกษาเป็นระบบอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เป็นระบบที่ใช้เงินภาษีมากที่สุดเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างและเงินเดือน
 
การศึกษายังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับขึ้นได้ด้วยตนเอง  การขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทำให้เกิดแรงกดดันที่จะต้องขยายระดับมัธยมศึกษา เพิ่มผู้จบระดับมัธยมศึกษามากขึ้น ทำให้เกิดอุดมศึกษามากขึ้น และเมื่อขยายระดับอุดมศึกษาทำให้เกิดบัณฑิตศึกษามากขึ้น  กลายเป็นความต้องการที่ไม่รู้จักพอ  เพราะการศึกษาทำให้เกิดอุปสงค์ทางการศึกษา
  
การศึกษายิ่งเจริญเติบโตมากเท่าไร  ประชาชนจะยิ่งต้องการการศึกษามากขึ้นเท่านั้น แต่การเจริญเติบโตทางการศึกษาแบบเดิมๆ  ทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการศึกษา เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะ

ผลผลิตของระบบการศึกษา ในระยะแรกของการพัฒนา  เกือบทุกประเทศต่างก็ให้ความสำคัญที่การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา  เพื่อผลิตกำลังคนเป็นจำนวนมาก  แต่พบว่าการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ผลิตคนได้ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ จนเกิดปัญหาว่าจะขยายการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำอย่างรวดเร็ว  หรือจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างช้าๆ  แต่พบว่า ส่วนใหญ่จะเลือกประการแรก  ที่จะจัดการศึกษาให้เด็กด้วยครูที่ไม่มีคุณภาพ  ขาดตำราเรียน และมีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมไม่เพียงพอ ทั้งนี้  เพราะเกิดจากความกดดันทางการเมืองเป็นสำคัญ

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พบว่า แทบทุกประเทศ เด็กในเมืองมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนดีๆกว่าเด็กในชนบท  ในกรณีที่มีการเก็บค่าเล่าเรียน เด็กจากครอบคัวที่ร่ำรวยจะได้ประโยชน์กว่า ตราบใดที่การศึกษาในระบบ เป็นหนทางไปสู่ความมั่งคั่ง เกียรติยศ ชื่อเสียงและอำนาจ การศึกษาก็จะเป็นระบบสำหรับคนส่วนน้อยโดยค่าใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่

จุดมุ่งของการศึกษา ในแทบทุกประเทศจุดมุ่งของการศึกษาไม่ชัดเจน ว่าจะจัดสอนอะไร จะเน้นเรื่องอะไร จะเรียนในสาขาใดสำคัญที่สุด โดยมากจะมุ่งจัดการศึกษาตามค่านิยม  เพราะการได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย มีผลอย่างสำคัญต่อการมีรายได้สูง มีตำแหน่งสูง ตลอดจน การมีอำนาจ  สถาบันอุดมศึกษาจึงพอใจที่จะสอนวิชาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กฎหมาย  และสังคมศาสตร์  มากกว่าที่จะเปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีการผลิตแพทย์ วิศวกร  และบุคลากรเกี่ยวกับเทคนิคน้อยมาก แต่มีนักกฎหมายและนักสังคมศาสตร์มากเกินพอ  และยังพบว่า  ระดับมัธยมศึกษาเองก็ไม่สามารถเตรียมนักศึกษา  เพื่อเรียนในสาขาวิชาที่มีคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นฐานได้อีกด้วย

การจัดงบประมาณ พบว่า ประเทศกำลังแทบทุกประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เพิ่มการศึกษาในระบบมากขึ้น เพราะมีอัตราผู้เข้าเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะแรงกดดันให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความรุนแรงมาก  มีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ  ที่จัดสรรให้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นธรรม โดยมีการจัดสรรให้สถาบันการศึกษาในชนบทน้อยกว่าจัดให้สถาบันการศึกษาในเมือง หรือสถาบันที่มีชื่อเสียง  จนก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

ข้อจำกัดขององค์การและคน   ความจริงในการจัดการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมาก มากกว่าข้อจำกัดทางการเงิน การขาดครูอาจารย์และผู้บริหาร เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การศึกษาไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ จนอาจกล่าวได้ว่า การขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีสมรรถนะ ทำให้ยากที่จะพัฒนาการศึกษาในยุคสารสนเทศได้

ปัญหาแลวิกฤตการณ์ทางการศึกษาที่กล่าวมานี้  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ยกเว้นระบบการศึกษาของไทย หากไม่มีการแก้ไขอย่างรีบด่วนจะนำไปสู่วิกฤตชาติอย่างแน่นอน
                  ------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                    สาระคิด

                     การศึกษายิ่งมากยิ่งดี  แต่การศึกษาแบบผิดๆจะทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                          ------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น