นักวิชาการได้แบ่งระบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 ระบบย่อย ดังนี้
ระบบเทคโนโลยี ประกอบด้วย เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุ จักรกล ตลอดจนสารเคมีต่างๆ รวมทั้งเทคนิคในการใช้สิ่งต่างๆเหล่านั้น ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงเครื่องมือในการผลิต วิธีการดำรงชีวิต วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้เพื่อการต่อสู้และป้องกันตัวเองด้วย
ระบบเทคโนโลยี เป็นระบบย่อยที่นักวิชาการให้ความสำคัญมากกว่าระบบย่อยอื่นๆ เพราะเป็นระบบย่อยที่แสดงบทบาทเบื้องต้นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ต้องการอาหาร ต้องมีวิธีป้องกันตัวเองจากศัตรู และต้องรู้จักรักษาบำบัดตนเองทางด้านสุขภาพอนามัย มนุษย์จึงจะอยู่รอดได้ เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้ เป็นระบบที่มีความสำคัญสูงสุด
ระบบสังคมวิทยา ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งแสดงออกในรูปของแบบแผนของพฤติกรรมของส่วนรวมหรือของแต่ละบุคคล ระบบย่อยนี้หมายรวมถึงลักษณะทางสังคมต่างๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติ เศรษฐกิจ จริยธรรม การเมือง การทหาร การศาสนา อาชีพ และสันทนาการ
ระบบสังคมวิทยา เป็นระบบที่มีความสำคัญรองลงมา ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมระบบเทคโนโลยีอีกต่อหนึ่ง เป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำหน้าที่ของระบบเทคโนโลยี เป็นตัวแปรตามระบบเทคโนโลยี ระบบเทคโนโลยีจึงเป็นตัวกำหนดรูปแบบของระบบสังคมวิทยา
ระบบอุดมการณ์ ประกอบด้วย แนวความคิด ความเชื่อ ความรู้ ซึ่งแสดงออกด้วยภาษาพูดและใช้สัญลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ ระบบย่อยนี้ ประกอบด้วยนิยายลึกลับมหัศจรรย์ต่างๆ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ความรู้พื้นบ้าน และความรู้แบบสามัญสำนึก
ระบบอุดมการณ์ เป็นระบบที่เปลี่ยนตามระบบเทคโนโลยีเช่นเดียวกับระบบสังคมวิทยา
จะเห็นว่า ระบบย่อยเหล่านี้จะสอดคล้องกลมกลืนกันพอสมควร การเปลี่ยนแปลงในระบบย่อยหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอื่นๆด้วย แต่มากน้อยไม่เท่ากัน
แต่หากจะพิจารณาระบบวัฒนธรรม โดยแยกเป็นชั้นๆตามลำดับสูงต่ำแล้ว จะพบว่า ระบบเทคโนโลยีอยู่ชั้นต่ำสุด ระบบอุดมการณ์อยู่ชั้นสูงสุด ส่วนระบบสังคมนิยมอยู่ชั้นกลางๆ
-------------------------------------------------------------------------------
สาระคิด
เหตุใดการพัฒนาจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่ไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ คำตอบส่วนหนึ่ง ก็คือว่าประเทศเหล่านั้นมีวัฒนธรรมต่างกัน
--------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น