วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าประทานมา

หลายคนอาจมองโลกาภิวัตน์ในเชิงบวก มองในแง่ดี แต่อยากจะบอกว่า โลกาภิวัตน์ ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าประทานมา เป็นกฎทองคำ หรือกฎธรรมชาติ หรือเป็นหลักมนุษยธรรม

โลกาภิวัตน์เป็นเพียงความคิดรวบยอดอย่างหนึ่ง  เป็นนโยบายกลุ่มหนึ่่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  ในทางทฤษฎี
โลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน เป็นความคิดที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับคำว่า "ประชาธิปไตย" "เสรีภาพ" "การพัฒนา"  "ความร่วมมือกัน" หรือคำว่า "การหาข้อตกลงร่วมกัน"
  
แต่ในความเป็นจริง  โลกาภิวัตน์ถูกกำหนดขึ้นมาโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว  เพื่่อประโยชน์ของบริษัทและสถาบันการเงินของประเทศเหล่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเอาชนะกฎเกณฑ์ต่างๆที่ประเทศกำลังพัฒนากำหนดขึ้น เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและบริษัทภายในประเทศของตน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นส่วนใหญ่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

ในทางปฏิบัติ โลกาภิวัตน์อาจนำประเทศกำลังพัฒนาไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็นำความเสี่ยงใหม่ๆเข้ามา  เป็นความเสี่ยงที่สามารถทำลายความอุดมสมบูรณ์ของประเทศได้ 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเตือนถึงภัยจากโลกาภิวัตน์ ให้มีการระวังเรื่องลัทธินานาชาตินิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิปกป้องนิยม ซึ่งอาจเป็นผลลบต่อการค้าขายและการลงทุนไร้พรมแดน ซึ่งอาจทำลายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่อ่อนแอกว่า และอาจกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยทั้งของประเทศที่เข้มแข็งและอ่อนแอ ทั้งนี้  เพราะโลกาภิวัตน์เป็นอุดมการณ์ที่ประเทศมั่งคั่งรำรวยสร้างขึ้น  อาจเป็นภาพลวงตาเพื่อนำไปสู่การครอบงำอย่างมีหลักการ

ได้เคยกล่าวแล้วว่า โลกาภิวัตน์ได้พัฒนามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  จึงสามารถเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนหลายอย่างในปัจจุบัน  อันแสดงถึงลักษณะของโลกาภิวัตน์  เป็นการเลื่อนไหลของ สินค้า เงิน ข้อมูลข่าวสาร คน การพัฒนาเทคโนโลยี ระบบกฎหมาย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน  ที่ช่วยให้มีความสะดวกสบายต่อการเลื่อนไหลของปรากฏการณ์เหล่านั้น
 
ลักษณะโลกาภิวัตน์อาจสังเกตได้จากปรากฏการณ์เหล่านี้ กล่าวคือ

มีการเพิ่มการค้าระหว่างประเทศในอัตราที่รวดเร็ว มีการไหลเข้าออกของทุน รวมทั้งการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาของระบบการเงินการคลังโลก บรรษัทข้ามชาติเพิ่มส่วนแบ่งเศรษฐกิจโลกมากขึ้น องค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบทบาทมากขึ้น

มีการกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยและเขตแดนของประเทศต่างๆ  โดยอาศัยข้อตกลงระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การค้าโลก เป็นต้น มีการผลักดันและสนับสนุนให้มีศาลระหว่างประเทศ  เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม  และสร้างความยุติธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนมีการกำจัดการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ  แม้ประเทศนั้นๆไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยตรงก็ตาม

มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติมากขึ้น   คนจึงเข้าถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้น บางครั้งได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก เป็นเหตุให้ลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมลง เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมากขึ้น

มีการท่องเที่ยวและการอพยพเพื่มขึ้น  รวมทั้งการอพยพของผู้ทำผิดกฎหมาย และอาชญกรข้ามชาติ

มีการพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายโทรคมนานาคมทั่วโลก มีการใช้เทคโนโลยี เช่น อินเตอร์เนต การสื่อสารผ่านดาวเทียม  และโทรศัพท์มากขึ้น  ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวข่าวสารอย่างรวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการเพิ่มมาตรฐานของสิ่งของที่ใช้ทั่วโลก เช่นกฎหมายลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรต่างๆ 

ที่กล่าวมา จะเห็นว่าลักษณะโลกาภิวัตน์ ได้มีปรากฎชัดเจนในประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม โลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่พระเจ้าประทานมา จึงมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ไม่ดี  คนไทยจึงควรรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมีสติ ไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าให้กระแสโลกาภิวัตน์ครอบงำได้ 
                             ----------------------------------------------------                                                                                                                        สาระคำ
                                            IMF = International Monetary Fund.
                                                        ------------------------
                                                           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น