วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

ค่านิยมของคนไทย

ค่านิยมเป็นแบบแผนของความประพฤติของคนในสังคม  เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ  เป็นตัวกำหนดว่าอะไรมีค่าควรแก่การเลือก  ค่านิยมบอกให้ทราบว่า  อะไรเป็นสิ่งที่ต้องการ  อะไรดีที่สุด ตลอดจน เป็นตัวกำหนดว่าอะไรถูก อะไรเหมาะสมที่จะปฏิบัติ ที่จะเชื่ื่อ

สำหรับค่านิยมของคนไทย ที่สำคัญๆ มีดังนี้

รักความอิสระ  คนไทยไม่อยากให้คนอื่น มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของตน  และตนก็ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น  ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนอื่น รักความเป็นอิสระ  เป็นตัวของตัวเอง จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว  เอาตัวรอด  คำนึงความสะดวกสบายของตนเป็นเกณฑ์  ค่านิยมรักความอิสระนี้เห็นได้จาก คติพจน์ สุภาษิต และคำกลอนต่างๆ เช่น "ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้" "ตัวใครตัวมัน" "รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"   เป็นที่น่าสังเกตว่า  โดยทั่วไป ค่านิยมรักความอิสระเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมอุตสาหกรรม  ไม่น่าจะมีในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตร

การนิยมครอบครัวเดี่ยว  ครอบครัวเดี่ยว หมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วย บิดา มารดา และบุตร ค่านิยมข้อนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากค่านิยมรักความอิสระ

การเล็งผลปฏิบัติ  คนไทยจะไม่ยึดมั่นในสิทธิ  และไม่ยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เห็นผล  หรือไม่สอดคล้องกับประโยชน์ตน เช่น เชื่อว่า อุดมการ หลักการ และกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะปฏิบัตตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าไม่เกิดประโยชน์กับตนก็ไม่ถือปฏิบัติ

ค่านิยมบทบาทของสตรี  คนไทยนิยมยกย่องสตรี สตรีในสังคมไทยมีโอกาสเท่าเทียมกับบุรุษในเรื่องการงานและตำแหน่งหน้าที่   ตลอดจนให้ความสำคัญกับความเป็นเพศแม่ของสตรี

ความเฉื่อย  เป็นค่านิยมที่แสดงถึงมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ในสิ่งที่ตนเป็นอยู่  บางครั้งทำให้ขาดความกระตือรือร้น ทำงานเท่าที่จำเป็นในการครองชีพเท่านั้น ชอบทำงานสบาย เพราะเคยชินกับความสบาย

การถือฐานานุรูป  เป็นค่านิยมที่ถือว่า  การได้ตำแหน่งหน้าที่การงานนั้นเป็นไปตามฐานะ   ตามกำเนิด การมีฐานะดี การเกิดในตระกูลสูง จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงเป็นเรื่องปกติ

การถือความสัมพันธ์ส่วนตัว  เป็นค่านิมที่ถือเอาความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเครื่องตัดสินในการติดต่อ  ในการให้คุณให้โทษคนอื่น

การถือประโยชน์ตน  เป็นค่านิยมที่ถือเอาประโยชน์ตนเองเป็นเหตุจูงใจ ว่าจะทำหรือไม่ทำ  หรือจะทำอย่างไร

การถืออำนาจ  เป็นค่านิยมที่ถือว่า  ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเพียงผู้รับคำสั่งและนำไปถือปฏิบัติ  ส่วนผู้ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่อยากเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่

ค่านิยมที่กล่าวมา  ในเมืองใหญ่ๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  แต่ในชนบทค่านิยมเหล่านี้จะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน เมื่อสังคมเปลี่ยนไปค่านิยมเหล่านี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
                                           ----------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

                                              มิยอมรับผิด นั่นคือ  มีความผิดจริงแท้

                                                                          สามก๊ก
                                                             ----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น