วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

ลักษณะสังคมไทย

แต่ละสังคมย่อมมีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ของสังคม  ซึ่งจะช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมได้ชัดเจนขึ้น การที่แต่ละสังคมจะมีลักษณะอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ตลอดจนค่านิยมของสังคมนั้นๆเป็นสำคัญ การจะแก้ปัญหาหรือการพัฒนาสังคมใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะจะต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของสังคมนั้นๆให้มาก  มิฉะนั้นอาจนำไปสู่การมีปัญหาใหม่ๆ  หรือการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความล้มเหลวได้

สำหรับสังคมไทยก็มีลักษณะเฉพาะ  ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น ดังนี้

ความเป็นเอกราช  ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชมาช้านาน  ความมีเอกราชทำให้คนไทยรักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง   และไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาของใครนานๆ

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร    จริงอยู่ในสภาพปัจจุบัน อาจจัดประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาบางส่วนหรือกึ่งพัฒนา คือนอกจากอาชีพการเกษตรแล้ว  ยังมีอุตสาหกรรมและการบริการเข้ามามีส่วนด้วย แต่เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม  จึงก่อให้เกิดสังคมที่มีลักษณะต่อไปนี้ กล่าวคือ อยู่รวมกันแบบทุกคนรู้จักกัน  ติดต่อคุ้นเคยกันโดยตรง ครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญทางเศรษฐกิจ คือเป็นทั้งหน่วยผลิตและหน่วยบริโภค  มีโลกทัศน์เป็นคนหัวโบราณ ยึดมั่นในประเพณีต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ยาก  ชอบเก็บเงินไว้เฉยๆ ทำให้เงินไม่หมุนเวียน เชื่อโชคลาง  ใช้เงินส่วนใหญ่ในพิธีการต่างๆ ไม่กระตือรือร้น ไม่ดิ้นรน เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง  กล่าวคือ ข้าราชการแทบทุกหน่วย  ที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ในส่วนภูมิภาค  เป็นข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งไปจากส่วนกลาง  นอกจากนั้น กรุงเทพยังเป็นเมืองสำคัญยิ่งกว่าเมืองใดๆในประเทศ เป็นเมืองโตเดี่ยว เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง  การพัฒนประเทศก็มุ่งพัฒนากรุงเทพเป็นสำคัญ  คนกรุงเทพจึงมีโอกาสและได้รับบริการมากกว่าคนในชนบท จึงไม่แปลกที่กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดคนจากชนบทเข้ามาอยู่อาศัย ก่อให้เกิดปัญหามากมาย  ในขณะเดียวกันเป็นเหตุให้ชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้า  จนเกิดลักษณะทวิลักษณ์ขึ้นในสังคมไทย

สังคมไทยเป็นสังคมเจ้านาย  การเป็นเจ้าคนนายคนมีความหมายยิ่งสำหรับคนไทย  มีความหมายมากกว่าเงินทอง ครอบครัวและเพื่อนฝูง คนไทยได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆว่า  โตขึ้นขอให้เป็นเจ้าคนนายคน  ลักษณะที่แสดงถึงการเป็นเจ้านายที่สำคัญ ได้แก่ การนิยมอาชีพรับราชการ ชอบพิธีการที่แสดงถึงความสำคัญของตน เห็นงานที่ใช้แรงงานเป็นงานต่ำ ไร้เกียรติ  กับชอบนิยมการมีข้าทาสบริวาร ชอบเลี้ยงดูลูกน้องหรือสมุน ดำเนินชีวิตเกินตัวเกินฐานะ  หรือบางคนทำตัวเป็นลูกน้องฝากเนื้อฝากตัวผู้มีอำนาจ  แม้แต่นักการเมืองบางคนก็ยอมรับว่าตนเองเป็นขี้ข้า ก็มี

สังคมไทยมีปรัชญาชีวิตที่สงบสุข อันเป็นปรัชญาที่เกิดจากการนับถือศาสนาพุทธและสังคมเกษตร เช่น เชื่อในเรื่องบุญกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว การระงับปัญหาด้วยการไม่จองเวรต่อกัน เหล่านี้ เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างหลวม  อันหมายถึงสังคมที่เปิดโอกาสให้เลือกตัดสินใจกระทำแตกต่างกันออกไปไปได้แม้ในสถาณะการณ์เดียวกัน จึงทำให้คนไทยมีลักษณะ ขาดความสม่ำ่เสมอ ขาดความสำนึกเรื่องเวลา  ยึดตนเองมากว่าที่จะยึดหรือนึกถึงส่วนรวม  ขาดความรับผิดชอบผูกพันในระยะยาว  มีระเบียบวินัยน้อย  และมีแนวโน้มที่จะเอาฐานะตำแหน่งหนึ่งเป็นหลักครอบคลุมกิจกรรมอื่น แม้กิจกรรมนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระหน้าที่ของตำแหน่งที่ตนครองอยู่

ลักษณะดังกล่าวนี้  เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทย บางลักษณะก็สามรถยอมรับได้ในโลกยุคปัจจุบัน แต่บางลักษณะจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัตน์  มิฉะนั้นสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา  ดังที่นักสังคมวิทยาตะวันตกได้กล่าวไว้
                                                   ------------------------------------------

                                                                           สาระคิด

                                      ผู้หวังประโยชน์ด้วยอุบายไม่แยบคาย   ย่อมเดือดร้อน

                                                                                         พุทธสุภาษิต
                                                                   ------------------------                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น