วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

แนวความคิดเรื่องการพัฒนา

แนวคิดแรกๆของการพัฒนา หมายถึง กระบวนการที่ทำให้รายได้ที่แท้จริงของชาติเพิ่มสูงขึ้น และถ้าอัตราการเพิ่มรายได้สูงกว่าอัตราการเพิ่มของประชากร จะทำให้รายได้ต่อบุคคลที่แท้จริงจะเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาในระยะเริ่มแรก  จึงมีความหมายเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่วัดได้จากอัตราการเพิ่มของรายได้ประชาชาติหรือรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล
 
แนวคิดการพัฒนา ในระยะแรกๆเป็นแนวคิดการพัฒนา ที่มุ่งการเพิ่มรายได้ประชาชาติหรือรายได้ต่อบุคคลให้สูงขึ้นเพียงประการเดียว  ส่วนการขจัดปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ ถือว่าเป็นผลพลอยได้  โดยเชื่อว่ารายได้ประชาชาติที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น จะกระจายไปสู่ประชาชนผู้ยากจนของประเทศ ในรูปของการว่าจ้างแรงงาน การซื้อขายวัตถุดิบและผลผลิต  ตลอดจนขยายโอกาสทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการพัฒนาในระยะนั้น จึงให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิตเป็นพิเศษ อันได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ

แต่จากการพัฒนาตามความคิดดังกล่าว พบว่าการครองชีพของคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  แสดงว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดพลาด จริงอยู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อองค์ประกอบการพัฒนา  แต่ไม่ใช่การพัฒนาทั้งหมด
 
การพัฒนามีความหมายมากกว่าวัตถุสิ่งของเงินทอง  การพัฒนาจะต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง สถาบัน สังคม การบริหาร ตลอดจนเจตคติ  ประเพณีและความเชื่อของคน  การพัฒนาควรเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน  ต่อสู้กับการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนแก้ปัญหาการว่างงาน
 
และยังพบว่าการพัฒนาที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและสังคมได้ และในบางประเทศกลับก่อให้เกิดความยุ่งยากด้วยซ้ำไป

จนในที่สุด เซียร์ส (Seers) ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาการพัฒนาคนหนึ่ง  สรุปว่า การจะดูว่าประเทศใดพัฒนาจริงหรือไม่ ให้ดูจาก  ประเทศนั้นจัดการกับความยากจนอย่างไร  ประเทศนั้นจัดการกับการว่างงานอย่างไร  และ ประเทศนั้นจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันอย่างไร ถ้าประเทศนั้นมีปัญหาทั้งสามประการปรากฎอยู่  จะเรียกว่าเป็นประเทศพัฒนาไม่ได้ แม้จะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มเป็น 2 เท่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เป็นความคิดที่หลากหลาย แต่ อาจแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง กล่าวคือ

กลุ่มทฤษฎีการยึดตัวแบบ กลุ่มนี้มุ่งที่จะกำหนดเงื่อนไขทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ให้สอดคล้องกับที่มีอยู่ในประเทศตัวแบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันกับสังคมที่เป็นตัวแบบนั้น โดยทั่วไปมักจะยึดตัวแบบการพัฒนาของชาติตะวันตก

กลุ่มทฤษฎีสร้างตัวแบบ  กลุ่มนี้เชื่อว่า การพัฒนามิได้หมายถึงเฉพาะลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่ยังไม่พัฒนาก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ลักษณะใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องเดินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว  แต่จะต้องเลือกสรรแสวงหาวิธีการในการเปลี่ยนแปลง ให้เข้ากับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมนั้นๆ  ตลอดจนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง

ซึ่งทั้ง 2 แนวความคิดนี้ยังคงใช้เป็นแนวทางการพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนความหมายของการพัฒนาก็เช่นกัน  มีผู้ให้ความหมายอย่างกว้างขวางและแตกต่างกันไปตามกลุ่มอาชีพ แต่สรุปได้ว่า การพัฒนา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเป้าหมาย อย่างมีทิศทาง เพื่อให้บุคคลและสังคมดีขึ้น ส่วนจะดีขึ้นในลักษณะและทิศทางใดขึ้นอยู่กับค่านิยมของบุคคลและสังคม
  
การพัฒนาจึงเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลง การวางแผน การกำหนดทิศทาง และค่านิยม
                                 ------------------------------------------------------------------

                                                                                สาระคำ

การพัฒนา (Development) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความก้าวหน้า (Advancement) การทำให้เป็นสังคมเมือง (Urbanization) การทำให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม (Industrialization)  และ การทำให้เหมือนสังคมตะวันตก (Westernization)
                                                            ---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น