วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

ลักษณะร่วมทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา

ใครที่ติดตามข่าวการเมือง จะพบว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าไทย อียิปต์ หรือเวเนซูเอลา ล้วนแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะที่คล้ายๆกัน ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้มีลักษณะร่วมทางการเมืองนั่นเอง

สำหรับลักษณะร่วมทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา พบว่ามีดังนี้

          1. ประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง อันประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพรับราชการ นักบริหาร นักวิชาการ ผู้จัดการ และผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว มีไม่มากพอที่จะรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อต่่อรองทางการเมือง

          2. อำนาจการปกครองและการบริหารประเทศ ตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ อำนาจส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้กำลัง หรือจาการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต การปกครองประเทศ จึงมักจะเป็นแบบเผด็จการหรือคณาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะไม่มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เพราะไม่สนใจหรือขาดความรู้ทางการเมือง

          3. ชนชั้นที่มีอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่มักขาดอุดมการณ์  และขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้น ยังมีการขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  ทำให้การพัฒนาประเทศ ไม่เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรโดยรวม

          4. ประเทศกำลังพัฒนามักจะต้องพึ่งพิงประเทศมหาอำนาจทางด้านการเมืองและการทหาร  เพื่อการทำสงครามและการป้องกันประเทศ  ในทางกลับกัน ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นต่างก็พยายามใช้อำนาจทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร  บีบบังคับประเทศกำลังพัฒนาผ่านชนชั้นผู้ปกครองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตนเช่นเดียวกัน

          ปัญหาทางการเมืองดังกล่าวนี้  อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศมากยิ่งกว่าปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ้ไป ทั้งนี้เพราะระบอบเศรษฐกิจ จะมีรูปแบบอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่  และปัญหาทางเศรษบกิจอาจแก้ไขได้ยาก  หากการแก้ปัญหานั้น ขัดผลประโยชน์ทางเมืองของกลุ่มคนผู้มีอำนาจ

          อนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ นักอุตสาหกรรม นายธนาคาร  เจ้าของโรงงาน นักธุรกิจ ฯลฯ  กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดว่ายุทธวิธีการพัฒนาใดมีความเป็นไปได้  และเป็นตัวกำหนดว่าการพัฒนาประเทศควรจะไปในทิศทางใด

          ในประเทศกำลังพัฒนาแต่ละประเทศ โครงสร้างทางการเมืองและกลุุ่มผลประโยชน์จะมีความแตกต่างกัน ตามประวัติความเป็นมาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ  เช่น  ในประเทศลาตินอเมริกาชนชั้นผู้มีอำนาจจะเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่  ประเทศในแอฟริกามักจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง  ส่วนในตะวันออกกลางมักจะเป็นพวกเศรษฐีบ่อน้ำมันและนายทุนทางการเงิน ส่วนประเทศเอเซีย ชนชั้นสูงส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของที่ดิน นายทุน และนักอุตสากรรมผู้มั่งคั่ง
 
ความสนใจของผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว มีผลให้นโยบาย ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม  จะต้องได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงของประเทศเหล่านี้  การเปลี่ยนแปลงจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                          --------------------------------------------------------------

                                                                   สาระคิด

         ถ้าคุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม พวกเขาก็จะปฏิบัติต่อคุณอย่างเหมาะสมเช่นกัน
                                          -------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น