วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ลักษณะร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกัน ดังที่เคยกล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็ยังมีลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันเป็นลักษณะที่ร่วมกันอยู่

สำหรับลักษณะร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนามีดังนี้

          ระดับการครองชีพต่ำ ในประเทศกำลังพัฒนา  คนส่วนใหญ่จะมีระดับการครองชีพที่ต่ำ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศที่ร่ำรวย  หรือจะเปรียบเทียบกับชนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆภายในประเทศเดียวกัน ประชากรที่มีรายได้ต่ำในประเทศกำลังพัฒนา จะมีที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอและไม่ถูกสุขลักษณะ สุขภาพอนามัยไม่ดี การศึกษามีจำกัด ตลอดจนผลิตกำลังคนที่ไม่เหมาะกับความต้องการของประเทศ ทารกแรกเกิดมีอัตราการตายสูง ความคาดหวังในการทำงานและความหวังในชีวิตต่ำ  นอกจากนั้น ยังพบว่า ในประเทศกำลังพัฒนามีการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันสูง คือร้อยละ 20 ของประชากรที่มีรายได้สูง จะมีรายได้สูงกว่าผู้มีรายได้ต่ำถึง 5-10 เท่า

         ประสิทธิภาพของการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เป็นผลมาจากขาดแคลนปัจจัยในการผลิตที่จะใช้ร่วมกับแรงงาน เช่น ในทางเกษตรกรรม จะขาดที่ดินขนาดใหญ่  ขาดการบำรุงรักษาดินที่ดี ไม่มีระบบชลประทานที่เพียงพอ  ตลอดจนไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนในทางอุตสาหกรรม ก็ยังขาดปัจจัยการผลิตเช่นกัน เช่น ทุน วัตถุดิบฯลฯ ตลอดจนขาดทักษะการจัดการของผู้ประกอบการ

         อัตราการเพิ่มของประชากรและภาระการเลี้ยงดูอยู่ในระดับสูง ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะมีอัตราการเพิ่มของประชากรค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพราะอัตราการเกิดของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในระดับที่คงที่ีหรือลดลงอย่างช้าๆ ในขณะที่มีอัตราการตายลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากเงื่อนไขเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมโรคสำคัญๆได้ ทำให้ประชากรในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่าประเทศที่พัฒนา

         การว่างงานและการทำงานต่ำกว่าระดับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น  การว่างงานมีใน 2 ลักษณะ คือ การทำงานต่ำกว่าระดับ หมายถึงการทำงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะคิดในแง่จำนวนชั่วโมง ต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อฤดูกาล และรวมถึงการทำงานเต็มเวลาแต่มีผลผลิตต่ำ อีกลักษณะหนึ่ีงเป็นการว่างงานของแรงงานที่มีความสามารถที่จะทำงานและอยากที่จะทำงาน  แต่ไม่มีงานที่เหมาะสมให้ทำ  เมื่อรวมทั้ง 2 ลักษณะเข้าด้วยกัน อัตราการว่างงานในประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราสูงถึงร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด

         เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรและการส่งออกผลผลิตขั้นปฐมเป็นสำคัญ  ในประเทศกำลังพัฒนาประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ทำการผลิตขั้นปฐม ได้แก่ การกสิกรรม ป่าไม้ ปศุสัตว์และการประมง  รายได้ส่วนใหญ่จะผูกพันกับรายได้สินค้าออก   ซึ่งเป็นผลผลิตขั้นปฐม อันได้แก่ อาหาร วัตถุดิบ และแร่ธาตุต่างๆ ประเทศกำลังพัฒนาจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ  เพราะไม่สามารถควบคุมอุปสงค์และอุปทานของสินค้าขั้นปฐมได้

         ความสัมพันธ์กับต่างประเทศมีลักษณะถูกครอบงำพึ่งพิงและไม่มั่นคง  ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่  มักจะผูกพันพึ่งพิงอยู่กับประเทศที่พัฒนา ทั้งในด้านการค้า การช่วยเหลือทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และปัจจัยทุนประเภทต่างๆ จึงทำให้ประเทศที่พัฒนามีอิทธิพลครอบงำเหนือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยประเทศกำลังพัฒนาจะรับเอา ค่านิยม ทัศนคติ มาตรฐานความเป็นอยู่และรูปแบบของสถาบัน ที่ไม่เหมาะสมกับระบบเศรษบกิจและสังคมของประเทศตนมาใช้ จนก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้น การพึ่งพิงของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ความหวังที่จะพัฒนาให้รู้จักพึ่งตนเองมีโอกาสน้อยลง และเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

         ลักษณะทางสังคม  ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีเมืองใหญ่ๆไม่กี่แห่ง ซึ่่งเป็นศูนย์กลางของรัฐบาล เป็นเมืองท่า ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับต่างประเทศ เมืองใหญ่เหล่านั้นมักจะมีปัญหาความแออัดเนื่องการอพยพเข้าเมือง  เพื่อหางานทำของประชากรในชนบท  เมืองใหญ่ๆจึงกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษและปัญหาสังคมอื่นๆ  อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะต้องใช้เงินและทรัพยากรมากมาย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในส่วนของขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม พบว่า ประชากรในประเทศกำลังพัฒนายังมีทัศนคติแบบเก่าๆที่บางครั้งก็ขัดกับการพัฒนาประเทศ

        ลักษณะทางเทคโนโลยีและวิชาการอื่นๆ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในระดับต่ำ เทคนิควิธีการผลิตที่มีความยุงยากซับซ้อนที่ใช้อยูในประเทศที่พัฒนามีน้อย ประสิทธิภาพการผลิตจึงค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ  ระบบการคมนาคมและการขนส่ง ตลอดจนการติดต่อสื่อสารต่างๆก็มีไม่เพียงพอ  มีผลต่อการแพร่หลายของวิทยาการต่างๆไม่ทั่วถึง

       ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวนีี้เป็นลักษณะร่วม  แต่จะมีลักษณะดังกล่าวมากหรือน้อย  อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำ่ ขึ้นอยู่กับความแตกต่างในแต่ละประเทศ
                             ------------------------------------------------------

                                                                      สาระคิด

               การพึ่งพิงประเทศพัฒนา ทำให้ความหวังที่จะพัฒนาให้รู้จักพึ่่งตนเองลดลง
                                                          -----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น