วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไทยในช่วงสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน หมายถึงสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมจารีตนิยมไปสู่สังคมสมัยใหม่ หรือถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ หมายถึงสังคมที่แปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

สังคมระยะเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมที่มีการขยับตัว  มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆหลายด้าน มีการย้ายถิ่น รวมทั้งมีการพัฒนาไปสู่สังคมสมัยใหม่แต่ยังไม่อยู่ตัว จึงทำให้เกิดลักษณะผสมผสาน  คือมีทั้งเก่าและใหม่
ในระยะสังคมเปลี่ยนผ่านนี้ จึงเป็นระยะที่ก่อให้เกิดความสับสนแก่คนที่พยายามปรับตัว  โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

โดยทั่วไปสังคมระยะเปลี่ยนผ่านจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

                  1.เกิดเศรษฐกิจเงินตราขึ้น มีการจำหน่ายสินค้าโดยผ่านคนกลาง โดยการนำสินค้าเข้าไปถึงหมู่บ้าน  เช่น วิทยุ โทรทัศน์ จักรยานยนต์ ฯลฯ สินค้าบางอย่างซึ่งเคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในชนบท ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะมีการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร  ในขณะเดียวกัน แม้จะมีเศรษฐกิจเงินตราและระบบตลาดเกิดขึ้น การอุปโภคบริโภคและการช่วยเหลือแบบญาติพี่น้องก็ยังคงมีอยู่

                  2. มีการสร้างอุตสาหกรรมผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคในลักษณะอุตสากรรมทดแทน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหารกระป๋อง ฯลฯ และเมื่ออุตสากรรมดังกล่าวอิ่มตัว จะหันไปผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อส่งออก

                  3. เกิดชุมชนเมิืองขึ้นและมีการย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง โดยเฉพาะแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อหางานทำ  เพราะในชนบทต้องการแรงงานน้อยลง ประกอบกับมีที่ดินจำกัด นอกจากนั้น  มีการเรียนรู้ ที่จะเป็นช่างฝีมือ มีผลให้หลายคนเปลี่ยนสภาพจากชาวนามาเป็นช่างฝีมือ มีโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป  ทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

                  4. มีการลงทุนโดนใช้เงินออมของชาติและการลงทุนโดยต่างชาติ มีการถ่ายทอดความรู้ในการผลิต เทคโนโลยี  การจัดการแบบใหม่ และการตลาด  ทำให้มีแบบแผนการทำงานใหม่ เช่น การตรงต่อเวลา การรับผิดชอบร่วมกันฯลฯ  มีการเรียนรู้วิทยาการ  เครื่องจักรกลและเครื่องมือใหม่ๆมากขึ้น

                  5. กลุ่มผู้นำในสังคมเดิมเริ่มถูกคุกคามในแง่ของอำนาจและสถานะทางสังคม โดยเฉพาะทหารและข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้เพราะ นักธุรกิจมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่วนกลุ่มอำนาจทางการเมืองเก่าต้องเผชิญกับกลุ่มที่เกิดใหม่ จนผู้มีอำนาจเดิมจะต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจ  เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และการคุ้มครองทางการเมือง

                  6. สังคมเปิดกว้างขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเลื่อนชั้นทางสังคม และการเคลื่อนย้ายทางภูมิศาตร์ โดยมีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ  ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาขยับเลื่อนชั้นเป็นบุคคลวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย นายช่าง ข้าราชการ ฯลฯ การเลื่อนชั้นทางสังคมทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง เป็นชนชั้นที่มีความรู้มากขึ้น จนทำให้อำนาจทางการเมืองเปลี่ยนเป็นอำนาจของชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักธุรกิจ และกรรมกร

                 7. ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนาจะถูกกระทบกระเทือน  ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมและการย้ายถิ่น  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งถือหลักเกณฑ์แบบจารีตนิยมเสื่อมคลายลง และไม่มีค่านิยมใหม่มาทดแทน ทำให้เกิดความสับสนและข้อขัดแย้งทางค่านิยม ศาสนาซึ่งเคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเริ่มทำหน้าที่ได้น้อยลง และมีคนต่างศาสนามากขึ้น ประกอบกับมีการศึกษาแนวใหม่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นครั้งคราว

                 8. พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนไป  เนื่องจากมีการเปลี่ยนค่านิยมและการเลื่อนทางชนชั้น ประกอบกับมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในสังคม   การเคารพในฐานะผู้อาวุโสเริ่มลดลง  การย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองของคนในชนบททำให้ต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ  เช่น การขับรถต้องรักษากฎจราจร การข้ามถนนต้องข้ามที่ทางข้าม การทิ้งขยะต้องเป็นที่เป็นทาง

                 9. สถาบันและโครสร้างทางสังคมแบบจารีตนิยมบางอย่างยังคงมีอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆดังกล่าวแล้ว สังคมแบบจารีตยังคงมีอยู่  เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปบ้าง เช่น การเล่นพวก การอุปถัมภ์  การวิ่งเต้น การถือตระกูลเชื้อฃาติ ตลอดจนนับเครือญาติ

 ลักษณะของสังคมระยะเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนและความขัดแย้งในสังคม  มีส่วนทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เกิดขึ้นในสังคมไทยดังที่ปรากฎอยู่  ส่วนจะมากน้อย จะยาวนานแค่ไหน  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของคนในสังคม  ตลอดจนแรงดึงจากสังคมจารีตนิยมกับแรงดันไปสู่สังคมสมัยใหม่ ว่าฝ่ายไหนจะมีมากกว่ากัน
                                      -------------------------------------------------------

                                                                     สาระคำ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change) หมายถึง กระบวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างและหน้าที่ของระบบสังคม
                                                          --------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น