วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของการพัฒนา

การพัฒนามิได้เกิดขึ้นโดยอิสระ   ทันทีทันใด แต่การพัฒนาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถจำแนกรูปแบบและช่วงเวลาของการพัฒนาได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

ระยะแรกของการพัฒนา  ระยะนี้เริ่มตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักการเพาะปลูกเพื่อการยังชีพ  ถึงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป

การดำรงชีพของมนุษย์ในช่วงนี้  มีลักษณะเรียบง่าย สะดวกสบาย มีความเป็นอยู่อย่างพอกินพอใช้ พึ่่งตนเอง ใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านแบบง่ายๆ  ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น
 
การพัฒนาในช่วงนี้  มุ่งเน้นเรื่องการพึ่่งตนเอง  ที่สามารถสนองตอบความจำเป็นของตนเองหรือของท้องถิ่นได้

ระบบสังคมเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค   ระบบตลาดยังไม่มีหรือถ้ามีก็ยังมีอิทธิพลน้อยมาก การดำรงชีพของประชาชนขึ้นอยู่กับธรรมชาติ  เคยชินกับการรอคอยจากรัฐและธรรมชาติ

สังคมสมัยนี้เป็นสังคมปิด มีความผูกพันเหมือนครอบครัวใหญ่ ระบบข้าราชการเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย โดยข้าราชการถือว่าตนเองเป็นนาย

ระยะที่สองของการพัฒนา   ระยะนี้เริ่มตั้งแต่การเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 18  ที่เริ่มใช้เครื่องจักรกลเข้ามาใช้ประโยชน์ในการผลิตแทนแรงงานมนุษย์

การใช้เครื่องจักรกลทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีผลผลิตเพิ่มหลายเท่าตัว ทำให้สังคมยุโรปเปลี่ยนแปลงไปมาก  ประชาชนแบ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค  มีการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถ  สังคมกลายเป็นสังคมเปิด ใช้ระเบียบข้อบังคับควบคุมความประพฤติของคนในสังคมแทนจารีตประเพณี

ผลชัดเจนที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็คือการพัฒนาของประเทศในยุโรปเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จในการพัฒนาของประเทศในยุโรป  ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาประเทศของตน โดยพยายามลอกเลียนแบบและวิธีการจากประเทศในยุโรปไปใช้ในประเทศของตน

ส่งผลให้ประเทศที่เคยล้าหลังเหล่านั้น  เกิดช่องว่างระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท  ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป  เกิดการต่อต้านและการขัดแย้งภายในอย่ารุนแรง เนื่องจากความคาดหวังของประชาชนสูงขึ้น  แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสมัยใหม่

ระยะที่สามของการพัฒนา  เป็นการพัฒนาที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน  และจะดำเนินต่อไปในอนาคต เป็นยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง  และเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

จากการใช้เครื่องจักรกลมาใช้อย่างกว้างขวางในระยะที่สอง ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย พลังงานมีราคาสูงขึ้น ประเทศที่พัฒนาไม่สามาถใช้อิทธิพลทางการเมืองหรือการทหารเข้าไปช่วงชิงผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบประเทศด้อยพัฒนาได้อีกต่อไป

ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจน  ทำให้ประเทศพัฒนาเริ่มหายุทธวิธีหรือแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางสำหรับพัฒนาให้กับประเทศยากจนทั้งหลาย เพราะความล้มเหลวในการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาได้ส่งผลกระทบค่อนข้างจะรุนแรงให้กับประเทศพัฒนา  ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม
 
นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศพัฒนาทั้งหลาย  ได้เปลี่ยนแนวทางและวิธีการเพื่อสนองความต้องการของประเทศด้อยพัฒนามากขึ้น

เหล่านี้ มีผลทำให้ยุทธวิธีและแนวทางการพัฒนาได้เปลี่ยนไปจากระยะที่สองที่เน้นการใช้เครื่องจักกล หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและช่วยเหลือประเทศล้าหลังให้สามารถพัฒนาตนเองควบคู่ไปด้วย
                           ---------------------------------------------------------------

                                                           สาระคิด

                       การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่ใช่การพัฒนา
                                              --------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น